Exhibitions /
EN THDreamday
โดย มิตร ใจอินทร์
ภัณฑารักษ์ เมลานี โพค็อก และ กิตติมา จารีประสิทธิ์
นิทรรศการจัดขึ้นโดยความร่วมมือของ ไอคอน (Ikon) และพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม โดยจัดแสดง ณ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน
หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ภูมิใจนำเสนอ Dreamday นิทรรศการแสดงเดี่ยวโดย มิตร ใจอินทร์ (เกิด พ.ศ. 2503 จังหวัดเชียงใหม่) ศิลปินร่วมสมัยระดับแนวหน้าของประเทศไทย ผลงานของเขาโดดเด่นด้วยการใช้สีสันอันหลากหลายที่ผสานรวมความเป็นจิตรกรรมและประติมากรรมเข้าไว้ด้วยกัน นิทรรศการนี้นำเสนอผลงานบางส่วนที่เคยจัดแสดงในนิทรรศการ Dreamworld ณ ไอคอน แกลเลอร์รี่ (Ikon Gallery) เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา รวมถึงผลงานบางส่วนจากโครงการศิลปะที่เน้นการมีส่วนร่วมภายใต้ชื่อ Bangkok Apartments (2565)
Dreamday คือส่วนต่อขยายของ Dreamworld นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของ มิตร ใจอินทร์ ในยุโรป ซึ่งจะหมุนเวียนไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 5 มีนาคม 2566 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 โดยนิทรรศการนี้นำเสนอความฝันถึงสังคมอุดมคติ (utopia) ของศิลปิน และความหวังของผู้คนที่มีร่วมกันถึงอนาคตที่สดใสกว่า ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันว่าทั้งภาวะโลกระบาดครั้งใหญ่ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลก ได้แพร่กระจายความรู้สึกหดหู่สิ้นหวังสู่สังคมอย่างกว้างขวาง จนทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งเลือกที่จะถอนตัวจากชีวิตจริง ความท้าทายเหล่านี้กระตุ้นให้เราจินตนาการถึงทางเลือกในการใช้ชีวิตที่ต่อต้านวิถีการผลิตที่เอารัดเอาเปรียบ (exploitative modes of production) และทดแทนด้วยการสนับสนุนคุณค่าของการดำรงอยู่ การสร้างบทสนทนาร่วม และการดำเนินธุรกรรมอย่างโอบอ้อมอารีในรูปแบบเศรษฐกิจของขวัญ (gift economies)
หัวใจหลักในการทำงานศิลปะของ มิตร ใจอินทร์ คือการหมุนเวียนพลังงานบวกระหว่างเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ มิตรใช้สื่อจิตรกรรมเป็นเครื่องมือส่งผ่านสนามพลังจากโลก (แหล่งที่มาของวัสดุที่ใช้สร้างสรรค์ผลงาน) แปรรูปสู่ชิ้นงาน และหมุนเวียนพลังงานนี้สู่บรรยากาศแวดล้อมชิ้นงานและผู้ชม เขามักสร้างผลงานบนผ้าใบที่ยังไม่ถูกขึงในยามค่ำคืน ละเลงสีด้วยมือ กดด้วยนิ้ว และป้ายด้วยเกรียง ก่อนจะใช้สัญชาตญาณผสานสีสันอันหลากหลายเข้าด้วยกัน ความหนาของเนื้อสีเกิดจากการผสมกันของน้ำมัน ผงแร่ยิปซั่ม ผงสี และสีอะคริลิค และบางครั้งเขาก็ใช้น้ำมันลินซีด ลดทอนความหนาของชั้นสีให้บางลง เมื่อถึงจุดหนึ่ง ร่องรอยของกลุ่มก้อนและจุดสีก็ต่างร้อยเรียงเกิดเป็นจังหวะ รูปแบบ และภาษาเฉพาะตัว
ในฐานะพุทธศาสนิกชน มิตรมองศิลปะในฐานะรูปแบบของ “สถาปัตยกรรมทางสังคม” อันเป็นเครื่องมือสะท้อนพลวัตของเศรษฐกิจผู้บริโภค (consumer economies) ที่ถูกควบคุม เป็นเวลาหลายปีที่เขาทำงานโดยไม่ระบุตัวตนให้กับศิลปินท่านอื่นโดยไม่รับค่าตอบแทน รวมถึงทำงานของตัวเองเพื่อแจกจ่ายให้กับคนทั่วไปราวกับเป็นสิ่งของสาธารณะ ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการเชียงใหม่จัดวางสังคม (Chiang Mai Social Installation : CMSI) เขาสร้างผลงานเพื่อแจกจ่ายพวกมันให้กับศิลปินที่ร่วมโครงการและชาวบ้านในพื้นที่จัดงานราวกับเป็นของสาธารณะ สิ่งนี้เน้นย้ำว่าสำหรับมิตร งานศิลปะคือของกำนัล (gifts) ที่ซึ่งคุณค่าของมันขึ้นอยู่กับผู้ครอบครอง เจ้าของสถานที่จัดงาน และผู้รับชม
Dreamday สำรวจพลังแห่งการเยียวยาและพลังทางสังคมของศิลปะ ผ่านผลงานอันเปี่ยมชีวิตชีวาซึ่งเปิดให้ผู้ชมสามารถจับต้องสัมผัส มุดผ่าน เหยียบย่ำ หรือกระทั่งนำติดตัวกลับบ้าน โดยเปลี่ยนพื้นที่จัดแสดงงานของหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ให้กลายเป็นเสมือนบ้านพักอาศัย ที่จะนำมาซึ่งการมีส่วนร่วมและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ในห้องแสดงงานที่ 1 ศิลปินนำเสนอผลงาน Dream Tunnel (2564) ผลงานจิตรกรรมจัดวางที่ห้อมล้อมผู้ชมด้วยหมู่มวลเส้นสายหลากสีสัน ศิลปินตั้งใจใช้งานชิ้นนี้ช่วย “ชำระล้างความซบเซาหรือบาดแผลอันเจ็บปวด” Midlands Dwelling (2564) อ้างอิงจากถ้ำยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่ซึ่งมนุษย์ในยุคนั้นได้จดจารความฝันของพวกเขาผ่านจิตรกรรมบนผนังถ้ำ ผสานกับแรงบันดาลใจของศิลปินระหว่างที่เขาไปเยือนเมืองเบอร์มิงแฮม จนเกิดเป็นประติมากรรมเหล็กที่ล้อมรอบด้วยงานจิตรกรรมคล้ายโถงถ้ำ Dream Works (2542–)และ Loops (2562–) เป็นผลงานชุดจิตรกรรมบนผืนผ้าใบทั้งสองด้าน ที่ผ่านการตัดและผ่าเพื่อให้เกิดเส้นสายโค้งเว้าและรูปทรงบ่วง โดยสามารถจัดแสดงได้ทั้งการแขวนบนผนัง หรือวางบนพื้น
ในห้องแสดงงานที่ 2 ผลงานชุด บางกอก อพาร์ทเม้นท์ (2565) เชื้อเชิญให้ผู้ชมนำวัตถุที่ศิลปินรังสรรค์ขึ้นจากวัสดุเหลือใช้ติดตัวกลับบ้านได้ โครงการนี้ศิลปินได้ต่อยอดจากโครงการ เวียนนา อพาร์ทเม้นท์ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2534 โดยในงานนั้น มิตรได้เชื้อเชิญเพื่อนฝูงและเพื่อนบ้าน มาชมผลงานที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นจากวัสดุเหลือใช้ที่เขาพบตามท้องถนนในเมืองเวียนนา และเปิดให้ผู้ชมได้เลือกงานศิลปะเหล่านั้นกลับบ้าน โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ที่นำสิ่งของกลับบ้าน จะต้องเปิดบ้านของพวกเขาให้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการแก่สาธารณะ ในการจัดแสดงผลงานที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ครั้งนี้ ศิลปินได้สร้างวัตถุจำนวน 74 ชิ้น จากวัตถุ สิ่งของที่ผู้คนทิ้งในกรุงเทพฯ ผสานกับเทคนิคเปเปอร์มาเช่ เช่นเดียวกับที่เวียนนา ผู้ชมสามารถเลือกเอาวัตถุเหล่านี้กลับบ้านได้ โดยแลกกับการบันทึกภาพ และเปิดบ้านให้แก่สาธารณะได้เยี่ยมชม ผลงานชุด บางกอก อพาร์ทเม้นท์ นำพาเราย้อนกลับไปสำรวจแนวความคิด “สถาปัตยกรรมทางสังคม” อีกครั้งหนึ่ง ที่ซึ่งศิลปะคือส่วนหนึ่งของชุมชน ผลงานชุดนี้ยังเปิดเอื้อให้เกิดการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์อีกครั้งหลังภาวะโรคระบาดครั้งใหญ่ เช่นเดียวกับที่เราจะได้เรียนรู้วีถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ในเวลาเดียวกัน
พร้อมไปกับการจัดแสดงนิทรรศการนี้ ท่านสามารถรับชมหรือหาซื้อหนังสือรวบรวมผลงานและชีวิตของมิตร ใจอินทร์ ตีพิมพ์โดยไอคอน และมูลนิธิ ArtAsiaPacific ได้ที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน หนังสือจัดพิมพ์ในรูปแบบสี่สี รวมทั้งบันทึกผลงานจากนิทรรศการ Dreamworld ณ ไอคอน แกลเลอรี่ รวมไปถึงชิ้นงานสำคัญ และบทความโดย เมลานี โพค็อก ภัณฑารักษ์จาก ไอคอน ไซม่อน ซุน นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ไบรอัน เคอทิน ภัณฑารักษ์ และบทสัมภาษณ์ศิลปินโดย กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน
มิตร ใจอินทร์
พ.ศ. 2503 จังหวัดเชียงใหม่
ศิลปิน
มิตร ใจอินทร์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2503 ในจังหวัดเชียงใหม่ เขาเติบโตมาในครอบครัวชาวยอง ในหมู่บ้านหัตถกรรมล้านนาทางภาคเหนือของประเทศไทย เมื่ออายุได้ 9 ขวบ มิตรบวชเป็นสามเณรที่วิทยาลัยสงฆ์จิตตภาวันในเมืองพัทยา และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นระหว่างปี พ.ศ. 2513–2519 เขาเริ่มศึกษาด้านศิลปะในปี 2525 ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรในกรุงเทพฯ แต่ด้วยความรู้สึกต่อต้านหลักสูตรแนวจารีตนิยมใหม่ของมหาวิทยาลัย มิตรออกเดินทางไปทวีปยุโรปในปี 2529 ที่ซึ่งเขาได้ตั้งแคมป์ในเมืองคาสเซลระหว่างเทศกาลศิลปะ ด็อกคูเมนต้า ครั้งที่ 8 และได้สมัครเข้าเรียนในหลักสูตรปริญญาโทของมหาวิทยาลัยประยุกต์ศิลป์ (University of Applied Arts) ในกรุงเวียนนาปลาย พ.ศ. 2530 ระหว่างเรียนอยู่ที่นั่นเขาได้พบกับศิลปินชื่อดังชาวออสเตรียอย่าง ฟรานซ์ เวสต์ (Franz West) และมีโอกาสได้ไปทำงานเป็นผู้ช่วยในสตูดิโอของเขาในช่วง พ.ศ. 2531-2535 เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยใน พ.ศ. 2535 มิตรและเพื่อนศิลปินได้ร่วมกันก่อตั้งเทศกาล เชียงใหม่จัดวางสังคม ซึ่งเป็นเทศกาลศิลปะจัดวางและศิลปะการแสดงสดแบบชั่วคราวที่จัดขึ้นตามพื้นที่สาธารณะและตามวัดต่าง ๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ผลงานของมิตรถูกจัดแสดงทั้งในโครงการที่จัดทำโดยศิลปิน พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่และในงานเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นงานเทศกาลศิลปะโยโกฮามา เทรียนนาเล่ (Yokohama Triennale) (2548) หรือการจัดแสดงที่อาคารพาเลส์ เดอ โตเกียว (Palais de Tokyo) ในกรุงปารีส (2550) พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ (Singapore Art Museum) (2557) พิพิธภัณฑ์ศิลปะโมริ (Mori Art Museum) เมืองโตเกียว (2560) พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์เกาสง (Kaohsiung Museum of Fine Arts) เมืองเกาสง (2562) เทศกาลศิลปะซิดนีย์เบียนนาเล่ (Biennale of Sydney) ในครั้งที่ 18 และ 21 (2555 และ 2561) ไอคอน แกลเลอรี่ (Ikon Gallery) (2564) และ อาชิ เทรียนนาเล่ (Aichi Triennale, 2565) ผลงานของมิตรอยู่ภายใต้การดูแลของแกลเลอรี่ซิลเวอร์เลนส์ (Silverlens) ในเมืองมะนิลา และทีเคจีพลัส (TKG+) ที่กรุงไทเป ปัจจุบันเขาใช้ชีวิตและทำงานที่จังหวัดเชียงใหม่
เมลานี โพค็อก
ภัณฑารักษ์
เมลานี โพค็อก (Melanie Pocock) ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการด้านศิลปะและนิทรรศการ แห่งแกลเลอรี่ไอคอน (Ikon) ณ เมืองเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร โดยที่เธอรับผิดชอบด้านนิทรรศการ โครงการนอกสถานที่ และสื่อสิ่งพิมพ์ นิทรรศการที่ผ่านมาได้แก่ Animal (2564 - 2565) โดยผู้กำกับชาวอเมริกัน-ไต้หวัน เจมส์ ที ฮง (James T. Hong) และ Dreamworld (2564) นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในยุโรปของศิลปินไทย มิตร ใจอินทร์ ก่อนทำงานที่ไอคอน เมลานีเคยทำงานเป็นผู้ช่วยภัณฑารักษ์อยู่ที่สถาบันศิลปะร่วมสมัยแห่งสิงคโปร์ (Institute of Contemporary Arts Singapore) (2557–2562) เธอจัดงานนิทรรศการมาแล้วถึง 60 นิทรรศการ ร่วมกับศิลปินจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจากทั่วโลก ในฐานะนักเขียน เธอได้เขียนบทความและบทวิจารณ์ให้แก่สื่อต่าง ๆ อย่างเช่น ArtAsiaPacific, Art Monthly, Frieze, Kaleidoscope, Ocula, The Financial Times, The Journal of Curatorial Studies, Di’van: A Journal of Accounts และ Third Text ใน พ.ศ. 2557 เธอได้ทำงานบรรณาธิการและร่วมเขียนในหนังสือเล่มแรกที่รวบรวมผลงานของชูชี สุลัยมาน (Shooshie Sulaiman) ศิลปินชาวมาเลเซีย ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เคอร์เบอร์ เวอร์แล็ก (Kerber Verlag) เธอเป็นสมาชิกสมาคมนักวิจารณ์ศิลปะนานาชาติ (International Association of Art Critics หรือ AICA) และได้รับปริญญาโทเกียรตินิยมด้านการภัณฑารักษ์ศิลปะร่วมสมัยจากราชวิทยาลัยศิลปะ (Royal College of Art) ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
กิตติมา จารีประสิทธิ์
ภัณฑารักษ์
กิตติมา จารีประสิทธิ์ ภัณฑารักษ์แห่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จังหวัดเชียงใหม่ และ ใหม่อีหลี จังหวัดขอนแก่น ในปีพ.ศ. 2559 เธอร่วมก่อตั้งห้องทดลองภัณฑารักษ์รอคอยคุณ เธอสนใจศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยเฉพาะประเด็นที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ สังคม และการเมืองเชิงวิพากษ์ ทั้งที่เกี่ยวกับประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทำงานร่วมกับนัก วิชาการ ศิลปิน องค์กร และพื้นที่ทางศิลปะในหลากหลายรูปแบบจากหลากหลายประเทศ นิทรรศการที่ผ่านมาได้แก่ ประวัติศาตร์กระจ้อยร้อย นิทรรศการโดยอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ ใหม่อีหลี (2565) โครงการ Watch and Chill: Streaming Art to Your Homes โครงการที่ทำร่วมกับ National Museum of Modern and Contemporary Art, Korea, Contemporary Art and Design Museum in Manila, M+ West Kowloon Cultural District และพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม House Calls: Pinaree Sanpitak ที่ มูลนิธิ 100 ต้นสน (2563) Breast Stupa Cookery: the world turns upside down ที่ โนว่า คอนเทมโพรารี่ (2563) แดนชั่ว ขณะ: ศิลปะสมใหม่เอี่ยม พ.ศ. 2553 - 2562 (2562) In search of other times: reminiscence of things ที่ JWD Art Space (2562)เธอจบการศึกษาระดับปริญญาโทสาขา การคัดสรรผลงานและจัดการชุดงานสะสม จาก Chelsea College of Arts ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
ไอคอน (IKON)
เบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร
ไอคอน คือพื้นที่ศิลปะร่วมสมัยชั้นนำระดับนานาชาติ ตั้งอยู่ ณ ใจกลางของเมืองเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2507 โดยกลุ่มศิลปิน ไอคอนถือเป็นองกรการกุศลเพื่อการศึกษาและสนับสนุนการมีส่วนร่วมระหว่างสาธารณะกับศิลปะร่วมสมัยผ่านการจัดแสดงงานศิลปะชิ้นใหม่ที่มีบริบทถึงการถกเถียงและการมีส่วนร่วม โปรแกรมของแกลเลอรี่รวมถึงการนำเสนอศิลปินจากทั่วโลกในรูปแบบงานศิลปะที่หลากหลาย ทั้งเสียง ภาพเคลื่อนไหว สื่อผสม ภาพถ่าย งานจิตรกรรม ประติมากรรม และศิลปะจัดวาง สำหรับกิจกรรมนอกสถานที่ของไอคอนนั้น พัฒนาขึ้นโดยมุ่งเน้นความสัมพันธ์อันเป็นพลวัตระหว่างศิลปะ ศิลปิน และผู้ชมนอกเหนือพื้นที่แสดงงาน โครงต่างๆมีความหลากหลายทั้งในเชิงขนาด ระยะเวลา และสถานที่ เพื่อท้าทายความรู้สึกคาดหวังในพื้นที่ที่ศิลปะจะถูกจัดแสดง หรือสร้างขึ้นโดยใคร การศึกษาคือหัวใจของกิจกรรมที่ไอคอน โดยคำนึงถึงความสนใจและความเข้าใจต่อทัศนศิลป์ในรูปแบบร่วมสมัยของประชาชน ผ่านการจัดกิจกรรมการพูดคุย ทัวร์ การประชุมเชิงปฎิบัติการ การสัมนา ฝ่ายการศึกษาของไอคอนมุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ที่หลากหลายกับผู้ชม สนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้ชมเพื่อสร้างบนสนทนาและสะท้อนความคิดเห็นต่อศิลปะร่วมสมัย www.ikon-gallery.org
พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม
เชียงใหม่
พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยของเอกชน ก่อตั้งโดยคุณฌอง มิเชล เบอร์เดอเล เเละคุณพัฒศรี บุนนาค ภรรยาผู้ล่วงลับ รวมทั้งคุณเอริค บุนนาค บูทซ บุตรชายของท่านทั้งสอง มีจุดประสงค์เพื่อเเบ่งปันคอลเลคชั่นส่วนตัวที่สะสมผลงานศิลปะมาเป็นเวลานาน ๓๐ ปี ให้ทุกคนสามารถสัมผัสได้ด้วยตนเองถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของศิลปะที่จะสร้างคุณค่าให้กับทุกๆชีวิต พิพิธภัณฑ์สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์เเด่เจ้าจอมเอี่ยม คุณย่าทวดของคุณเอริค บุนนาค บูทซ ซี่งเป็นเจ้าจอมในพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พิพิธภัณฑ์ฯ ก่อตั้งที่เชียงใหม่ เนื่องจากเป็นเมืองที่มี ศิลปวัฒนธรรมเฟื่องฟูเป็นอย่างมากจึงเหมาะเเก่การจัดเเสดงผลงานที่สะสมจากประเทศไทยเเละภูมิภาคอย่างถาวร พิพิธภัณฑ์ฯ จัดเเสดงนิทรรศการถาวรเเละชั่วคราวโดยเน้นผลงานทัศนศิลป์ เเฟชั่น งานออกแบบ การฉายหนัง เเละการเเสดงสด รวมทั้งจัดกิจกรรมทางการศึกษา เช่น งานเสวนา บรรยาย เเละมีการปฎิบัติการทางศิลปะ เพื่อรองรับผู้ชมที่หลากหลาย ใหม่เอี่ยม ตั้งอยู่ที่อำเภอสันกำเเพง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๒๐ นาที สำหรับตัวอาคารนั้นในอดีตเป็นโกดังเก่า ซึ่งได้ออกเเบบปรับปรุงต่อเติมใหม่โดย all(zone) กลุ่มสถาปนิกจากกรุงเทพมหานคร
www.maiiam.com