Jim Thompson Art Center

EN TH
string(2) "en"
Breast Stupa Cookery and Beyond cover
Breast Stupa Cookery and Beyond cover title

Exhibitions / Gallery 1 & 2, 3rd Floor

EN TH

Breast Stupa Cookery and Beyond

Breast Stupa Cookery and Beyond
นิทรรศการผลงานของ พินรี สัณฑ์พิทักษ์
23 กรกฎาคม – 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2568
หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน และพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน กรุงเทพฯ

หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ภูมิใจนำเสนอ Breast Stupa Cookery and Beyond นิทรรศการผลงานโดย พินรี สัณฑ์พิทักษ์ การกลับมาจัดแสดงเดี่ยวในครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ พ.ศ. 2547 นับเป็นการทบทวนเส้นทางการสร้างสรรค์อันลึกซึ้งและเปี่ยมพลังของศิลปินตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี นิทรรศการจัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี มูลนิธิเจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมป์สัน ถือเป็นหมุดหมายสำคัญทั้งในเส้นทางของศิลปินและในบทบาทของมูลนิธิที่มุ่งมั่นสนับสนุนศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

จากประสบการณ์ชีวิตและความสนใจอย่างต่อเนื่องในเรือนร่างผู้หญิง พินรี สัณฑ์พิทักษ์ ได้พัฒนาภาษาทัศนศิลป์อันเป็นเอกลักษณ์ที่มีทั้งความใกล้ชิด เป็นนามธรรม และเข้าถึงได้ในระดับสากล โดยมีรูปทรง “breast stupa” อันเป็นเอกลักษณ์ สื่อถึงทั้งเต้านมหญิงผู้หล่อเลี้ยงและสถูปเจดีย์ในพุทธศิลป์ อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ปรากฏอย่างต่อเนื่องในผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง และโครงการทำอาหารร่วมกับเชฟของเธอ

Pinaree Sanpitak, Pots No.1-11, 2023. Sculpture. Courtesy of the artist

Pinaree Sanpitak, Breast Stupas, 2000–2001 Unthreaded silk from Jim Thompson, 500 × 122 cm Courtesy of the artist

หัวใจสำคัญของนิทรรศการคือผลงาน Breast Stupa Cookery ผลงานเชิงปฏิบัติการที่เปิดให้มีส่วนร่วม ซึ่ง พินรี สัณฑ์พิทักษ์ เชิญชวนเชฟและผู้ร่วมงานมาร่วมตีความรูปทรง “breast stupa” ผ่านอาหารและการรับประทาน อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางของโครงการ Breast Stupa Cookery ผลงานจัดวางชิ้นพิเศษนี้สะท้อนประเด็นที่ศิลปินให้ความสำคัญมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการหล่อเลี้ยงร่างกาย พิธีกรรม การดูแล และเรือนร่างในฐานะภาชนะของประสบการณ์ชีวิต

จากภาพวาด Two Breasts เมื่อ พ.ศ. 2538 ไปจนถึงชุดผลงานประติมากรรมล่าสุดที่ประกอบด้วยภาชนะที่พบเห็นในชีวิตประจำวันและกระดาษสาฉีกมือ นิทรรศการ Breast Stupa Cookery and Beyond ถ่ายทอดพัฒนาการของ พินรี สัณฑ์พิทักษ์ ผ่านรูปทรง วัสดุ และความหมาย ผ่านผลงานหลากหลายสื่อ พินรีถ่ายทอดความละเมียดละไมต่อทั้งมิติแห่งประสาทสัมผัสและจิตวิญญาณ ผสานเรือนร่าง ดอกไม้ อาหาร ความเป็นหญิง และความศักดิ์สิทธิ์เข้าไว้ในพื้นที่แห่งการใคร่ครวญและการเชื่อมต่อซึ่งเปิดขยายอยู่เสมอ


  • 1

    Pinaree Sanpitak, Noon-Nom, 2016. Courtesy of the artist

  • Pinaree Sanpitak, Two Breasts, 1995. Acrylic, pastel, charcoal on canvas, 200 x 200 cm. Courtesy of the artist

    Pinaree Sanpitak, Two Breasts, 1995. Acrylic, pastel, charcoal on canvas, 200 x 200 cm. Courtesy of the artist

  • Pinaree Sanpitak, Breast Stupas, 2000–2001 Unthreaded silk from Jim Thompson, 500 × 122 cm Courtesy of the artist

    Pinaree Sanpitak, Breast Stupas, 2000–2001 Unthreaded silk from Jim Thompson, 500 × 122 cm Courtesy of the artist

Photo credit: Lee Wei Swee

พินรี สัณฑ์พิทักษ์

(เกิด พ.ศ. 2504 ประเทศไทย)

ศิลปิน

พินรี สัณฑ์พิทักษ์ เป็นศิลปินร่วมสมัยชาวไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ด้วยผลงานที่สำรวจประเด็นว่าด้วยความเป็นหญิง เรือนร่าง และการสถิตทางจิตวิญญาณ ผ่านผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม และศิลปะจัดวาง โดยเชี่ยวชาญในการใช้วัสดุหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่สิ่งทอ เซรามิก แก้ว ขี้ผึ้ง โลหะ ไปจนถึงอาหาร เอกลักษณ์ของผลงานเธอคือม็อติฟเต้านมที่สะท้อนทั้งความเป็นแม่และความศักดิ์สิทธิ์ โดยผสานรูปทรงของสถูปเจดีย์ในพุทธศิลป์เข้ากับสรีระของผู้หญิง

ผลงานของพินรีเคยจัดแสดงในมหกรรมศิลปะระดับนานาชาติหลายเวที อาทิ เวนิสเบียนนาเล่ครั้งที่ 59 (พ.ศ. 2565) ซิดนีย์เบียนนาเล่ครั้งที่ 18 (พ.ศ. 2545) เทศกาลศิลปะเซโตะอุจิ (พ.ศ. 2562) และบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (พ.ศ. 2565) รวมถึงในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำ เช่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยลอสแอนเจลิส พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยออสเตรเลีย และมูลนิธิศิลปะร่วมสมัยเชอร์แมน
เธอได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์ เมื่อ พ.ศ. 2550 และผลงานของเธอได้รับการสะสมอยู่ในพิพิธภัณฑ์และสถาบันต่าง ๆ กว่า 30 แห่งทั่วโลก ปัจจุบัน พินรีพำนักและทำงานที่กรุงเทพฯ

Photo credit: Lee Wei Swee