Exhibitions / Gallery 1 & 2, 3rd Floor
EN THKader Attia: Urgency of Existence
หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ขอเชิญชวนเข้าร่วมนิทรรศการ "Urgency of Existence" นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในเอเชียของ คาแดร์ อัทเทีย ศิลปินชาวฝรั่งเศส-แอลจีเรียที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ผู้เป็นหัวหอกในการทำงานศิลปะแบบสหสาขา ด้วยแนวคิดหลังอาณานิคม และ การปลดปล่อยอาณานิคม จากสายตาของผู้ที่มีประสบการณ์ทางตรงและทางอ้อมของคนที่ถูกกดขี่ และถูกกระทำจากลัทธิล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ผ่านมา จัดแสดงผลงานที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ถึงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2568 ภายใต้การดูแลของกฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน และอดีตผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ มหกรรมศิลปะนานาชาติ ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ เชียงราย พ.ศ. 2566
ชื่อนิทรรศการ "Urgency of Existence" มุ่งเจาะลึกในแนวคิดของอัทเทียเกี่ยวกับการซ่อมแซม (repair) เพื่อสำรวจความเร่งด่วนในการปลดแอกอาณานิคมทั่วโลก (decolonization) กับอาณานิคมแอบแฝง (crypto colonization) ในประเทศไทยและภูมิภาคโดยรอบ พร้อมทั้งกระตุ้นให้เห็นข้อจำกัดของเวลา และทำความเข้าใจความซับซ้อนของยุคสมัยแห่งความไม่แน่นอน คาแดร์ อัทเทียต่อยอดการค้นคว้ามาจากผลงานที่จัดแสดง ณ ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ เชียงราย พ.ศ. 2566 ผนวกแนวคิดเรื่องการรวมตัว (gathering) และการแยกส่วน (separation) ทั้งในความหมายตรงตัวและการอุปมาอุปไมย ซึ่งไม่เพียงแต่ชี้ให้เห็นกระบวนการสำคัญของการดำรงอยู่ของมนุษย์และจิตวิเคราะห์ ยังสะท้อนถึงผลกระทบทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การเมือง ประสบการณ์จากยุคล่าอาณานิคมอีกด้วย
นิทรรศการนี้จัดแสดงผลงานศิลปะผ่านสื่อที่หลากหลาย ตั้งแต่งานศิลปะจัดวางแบบให้คนมีประสบการณ์ร่วม งานประติมากรรม จิตรกรรม ไปจนถึงภาพยนตร์ที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ได้แก่ ผลงานชิ้นโบว์แดง ของเขาชื่อว่า On silence ศิลปะจัดวางโดยใช้ขาเทียมโบราณ นำเสนอร่องรอยแห่งความสูญเสีย และบาดแผลจากสงคราม, งาน Ghost ประติมากรรมจากอลูมิเนียมฟอยล์ต้นแบบหุ่นมาจากแม่ของศิลปิน นำเสนอกลุ่มมุสลิมหญิงนั่งละหมาด เพื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับศาสนา ศรัทธา ความเป็นสมัยใหม่ และลัทธิทุนนิยม ซึ่งผลงานชิ้นนี้จัดแสดงที่หอศิลป์บ้านจิมฯ ซึ่งใกล้กับชุมชนมุสลิมบ้านครัว นอกจากนี้ ผลงานภาพยนตร์เรื่องใหม่บอกเล่าประวัติศาสตร์ขนาดย่อม บวกกับความทรงจำที่หลงลืมของศิลปินและเพื่อนอีกสองคน ที่ต่างได้รับผลกระทบจากการล่าอาณานิคม เพื่อสำรวจการหลอกหลอนของความทรงจำบาดแผลในเรื่องเล่าส่วนบุคคลซึ่งมีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ระดับโลก
ผลงานของคาแดร์ อัทเทีย สื่อสารถึงความเจ็บปวดและบาดแผลทางวัฒนธรรมที่ยังไม่ถูกลืมเลือนราวกับเป็นเงา หรือ "ผี" ของความทรงจำที่คอยหวนกลับมาหลอกหลอนในชีวิตประจำวัน เป็นบาดแผลของสิ่งที่ขาดหายไป (absense) ของการการดำรงอยู่ (presence) ในปัจจุบัน ร่องรอยที่หลงเหลือมาจากกระบวนการแยกส่วนและการรวมตัวในอดีต ศิลปินช่วยสรรค์สร้างความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับมิติทางปรัชญาและการปลดแอกจากอาณานิคม ซึ่งเป็นการพยายามผสานมิติทางความงาม นามธรรม และการเมืองของการซ่อมแซมอันซับซ้อน พร้อมท้าทายแนวคิดตะวันตกในเรื่องความงาม คุณค่า และการอนุรักษ์วัฒนธรรม
นิทรรศการ "Urgency of Existence" เชิญชวนผู้ชมให้ตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความทรงจำทางจิตวิญญาณ เพื่อสำรวจผลกระทบที่ยังคงค้างคามาถึงปัจจุบัน ความซับซ้อนของความทรงจำวัฒนธรรม และความเป็นไปได้ในการเยียวยาบาดแผลผ่านการสร้างสรรค์งานศิลปะ
นิทรรศการนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมป์สัน, Galleries’ Nights, สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย, Studio Kader Attia, Le Fresnoy - Studio national des arts contemporains และ คุณดิสพล จันศิริ DC Collection
เกี่ยวกับศิลปิน: คาแดร์ อัทเทีย
คาแดร์ อัทเทีย (เกิด พ.ศ. 2513 เมืองดูญี ประเทศฝรั่งเศส) ศิลปินชาวฝรั่งเศส-อัลจีเรียน ปัจจุบันอาศัยและทำงานอยู่อยู่กรุงเบอร์ลินและกรุงปารีส คาแดร์เป็นศิลปินสหวิทยาการ (multidisciplinary) ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการเติบโตมากับสองวัฒนธรรมที่แตกต่างกันระหว่างแอลจีเรียและฝรั่งเศส การมีชีวิตอยู่ระหว่างสองวัฒนธรรมนี้ทำให้อัทเทียเห็นและเข้าใจความซับซ้อนของการต้องปรับตัวระหว่างสองอัตลักษณ์ คาแดร์ใช้ผลงานของเขาเพื่อตั้งคำถามกับความซับซ้อนทางสังคมและการเมืองที่มีรากฐานจากประวัติศาสตร์อาณานิคมและการบิดเบือนทางวัฒนธรรม ผ่านการนำเสนอในศิลปะจัดวางและประติมากรรมเพื่อสำรวจผลกระทบทางอารมณ์อันลึกซึ้งจากการครอบงำทางวัฒนธรรมตะวันตกและระบบอำนาจอาณานิคมที่มีต่อผู้คนในสังคมที่ไม่ใช่ตะวันตก โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นของความบาดฝังจำร่วมทางสังคมและแนวคิดเรื่อง "การซ่อมแซม"
คาแดร์ อัทเทีย มีผลงานจัดแสดงในนิทรรศการและมหกรรมศิลปะชั้นนำนานาชาติ เช่น ไทยแลนด์เบียนนาเล่ ครั้งที่ 3, กวางจูเบียนนาเล่ ครั้งที่ 12, เวนิสเบียนนาเล่ ครั้งที่ 57 และ Documenta 13 อีกทั้งยังเคยจัดแสดงในแกลเลอรีชื่อดังระดับโลก อาทิ Hayward Gallery ในลอนดอน Kunsthaus Zürich และพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยในซิดนีย์ นอกจากนี้ คาแดร์ อัทเทียได้รับรางวัล Marcel Duchamp Prize พ.ศ. 2559 และในปีถัดมาได้รับรางวัล Prize of the Miró Foundation จากบาร์เซโลนา และรางวัล Yanghyun Art Prize จากโซล พ.ศ. 2565 และยังทำหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ของงานเบอร์ลินเบียนนาเล่ ครั้งที่ 12 นอกจาก นี้เขายังเปิดพื้นที่ศิลปะ La Colonie ในตึกเก่าของโรงงานทอผ้า บริเวณเขต 10 ของกรุงปารีส เพื่อให้เป็นศูนย์รวมของชุมชนอัลจีเรียน ศิลปิน และนัดคิดให้แลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับ การเหยียดเชื้อชาติ (racisim), การล่าอาณานิคม และ การฉกฉวยทางวัฒนธรรม (cultral appropriation) ในช่วงปี พ.ศ. 2559 และปิดตัวลงช่วงโควิด ปัจจุบันคาแดร์ทำงานและอาศัยอยู่ระหว่างเบอร์ลิน และปารีส
เกี่ยวกับภัณฑารักษ์: กฤติยา กาวีวงศ์
กฤติยา กาวีวงศ์ (เกิด พ.ศ. 2507 จังหวัดเชียงราย, ประเทศไทย) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการประจำหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ในกรุงเทพมหานคร กฤติยาได้รับเชิญเป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ร่วมกับ ฤกษ์ฤทธิ์ ตรีวะนิช ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติไทยแลนด์ เบียนนาเล่ 2566/2567 จังหวัดเชียงราย กฤติยาจบการศึกษาปริญญาโทด้านการจัดการบริหารศิลปะ จากคณะการบริหารจัดการศิลปะและนโยบายในปี พ.ศ. 2539 จากสถาบันศิลปะชิคาโก สหรัฐอเมริกา ร่วมก่อตั้งองค์กรศิลปะร่วมสมัยที่มีชื่อว่า Project 304 ร่วมกับกลุ่มศิลปิน อาทิ มณเฑียร บุญมา, กมล เผ่าสวัสดิ์ และอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุลในช่วงปีพ.ศ. 2539-2546 นอกจากบทบาทผู้อำนวยการศิลป์ประจำหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน กฤติยายังเป็นภัณฑารักษ์รับเชิญให้กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จังหวัดเชียงใหม่ และได้ร่วมก่อตั้งเทศกาลหนังทดลองกรุงเทพฯ (Bangkok Experimental Film Festival) ร่วมกับอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2540-2550 ผลงานนิทรรศการที่กฤติยาได้ทำการคัดสรรเปล่งเสียงถึงประเด็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ศิลปินประสบและพบเจอ ทั้งในประเทศไทยและวงกว้างนับตั้งแต่สมัยสงครามเย็น อาทิ Imagined Borders,กวางจู เบียนนาเล่ครั้งที่ 12 (2561), Missing Links, กรุงเทพฯ (2558), Between Utopia and Dystopia, เม็กซิโก (2554), Internationale Kurzfilmtage Oberhausen, Oberhausen (2552), Politics of Fun, Berlin (2548), และ Underconstruction Tokyo (2543–2545) นอกจากนี้ ยังเป็นภัณฑารักษ์ให้กับนิทรรศการสัญจรชื่อว่า The Serenity in Madness (2559–2563) ของอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ทำการจัดแสดงหลากหลายเมืองในเชียงใหม่, มะนิลา, ฮ่องกง, ชิคาโก, โอคลาโฮมา และไทเป