Exhibitions /
EN THโพลา – ลวดลายแห่งความหมาย
นิทรรศการบาติกและศิลปะร่วมสมัยจากประเทศอินโดนีเซีย
หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โดยความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์ดาร์นา ฮาร์ดี,สุราการ์ตา มีความยินดีนำเสนอนิทรรศการเกี่ยวกับบาติก ที่มีบทบาทสำคัญอย่างต่อเนื่องในประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของอินโดนีเซีย ความหมายของบาติกเปลี่ยนแปลงไปตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี ความหมายโดยนัยของมันเกี่ยวโยงกับมิติต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรม เมื่อเรามองพัฒนาการของบาติกในอินโดนีเซีย เราถึงได้ตระหนักว่า ในแง่หนึ่งมันได้สะท้อนให้การเห็นการส่งผ่านและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ในอีกแง่หนึ่ง มันยังมีส่วนช่วยสนับสนุนและสัมพันธ์กับนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจ
โดยศิลปินกลุ่ม เอซ เฮาส์ คอลเล็กทีฟ, จะฮายา เนอกรี, เอลวิน ประดิปตา, เรสตู รัตนังนิงเตียส
ด้วยความร่วมมือจากพิพิธภัณฑ์ ดาร์นา ฮาร์ดี, สุราการ์ตา
และศิลปินร่วมสนับสนุน อังดิ ปูรบันโดโน จิม อัลเลน อาเบล, แตรา บาจราโกสา
นักวิจัย อาร์ฮัม ระห์มัน
คัดสรรโดย เมลล่า จาร์สมาร์
ปัจจุบันการผลิตบาติกในท้องตลาดเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการตามกระแสและการผลิตแบบราคาถูกเพื่อมวลชน เมื่อเราพูดถึงบาติก เรากำลังพูดถึงในแง่มุมทางเทคนิคของการเขียนลายด้วยเทียนและการย้อมบนผ้าทอ หรือเรากำลังพูดถึงลวดลายต่างๆกันแน่ มีนิยามและการตีความกันมากมายให้ทำความเข้าใจ เมื่อเราพยายามเข้าใจความหมายของคำว่าบาติกตามบริบทเชิงวัฒนธรรม
บาติกส่วนหนึ่งในคอลเล็กชั่นของพิพิธภัณฑ์ดาร์นา ฮาร์ดีในสุราการ์ตา ถูกคัดสรรมาเพื่อจัดแสดงภายในนิทรรศการ ซึ่งสะท้อนให้เห็นแง่มุมต่างๆ ของบาติกไม่ว่าจะเป็น บาติกในฐานะอัตลักษณ์, อิทธิพลจากสภาพแวดล้อมและต่างประเทศ,เพศ, พัฒนาการทางการเมืองและบาติกในฐานะโภคภัณฑ์บาติกเหล่านี้จะถูกจัดแสดงรวมกับวัตถุจดหมายเหตุและงานศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกันโดยศิลปินร่วมสมัยจากอินโดนีเซีย ประกอบด้วย
เอซ เฮาส์ คอลเล็กทีฟ ศิลปินกลุ่มแสดงผลงาน Fervent Base ประติมากรรมจัดวางน้ำพุจากเครื่องทำจากช็อคโกแลต เทียนเขียนบาติก พาราฟิน เหล็ก พร้อมด้วยงานวิดีโอจอเดี่ยวเพื่อสำรวจกระบวนการผลิตบาติกในปัจจุบันที่มีชื่อเสียงจากลายและรูปลักษณ์ ไม่ได้มีชื่อเสียงจากกรรมวิธีการผลิตตามประเพณีแบบดั้งเดิมงานชิ้นนี้ได้สำรวจประเด็นเหล่านี้ผ่านการทำความเข้าใจในศัพท์บัญญัติของบาติก
จะฮายา เนอกรี ศิลปินกลุ่มแสดงผลงานSignificant Scenariosศิลปะจัดวางบาติกบนฝ้าย เพื่อตีความต่อประเด็นความต่างระหว่างลายตกแต่งที่ไม่ได้อ้างถึงเรื่องราวใดเลย กับลวดลายในบาติกที่อิงกับบริบททางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ รวมถึงความหมายที่ฝังไปในการออกแบบลวดลายเพื่อให้เกิดการปฏิบัติทางสังคม ผู้ชมจะได้รับเชิญให้เข้าไปในโครงสร้างคล้ายเขาวงกตทำขึ้นจากบาติก ที่จากเดิมไว้สวมใส่ เมื่อเดินเข้าไปภายในวงกตบาติกนี้ ผู้ชมจะรายล้อมไปด้วยผัสสะนานาของลวดลายบาติกแบบใหม่ ซึ่งจัดวางขึ้นจากลวดลายประดับตกแต่งต่างๆ กลิ่น การเล่นกับแสงเงาและลูกเล่นให้ผู้ชมได้ลองออกท่าออกทางภายใน เมื่อผู้ชมหันหน้าเข้าผนังเขาวงกตและเงาของเขาได้หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของฉากทั้งหมด
เรสตู รัตนังนิงเตียส ศิลปินหญิงเดี่ยว สร้างสรรค์ผลงานจากฝ้าย คราม สีสังเคราะห์ และมันสำปะหลังบนพื้นฐานของความสนใจในสถานภาพของผู้หญิงในอุตสาหกรรมบาติก ที่ไม่ได้จำกัดแค่เพียงบทบาทของแรงงาน (ผู้ทำหน้าที่เขียนเทียนลงบนผ้า) แต่ยังเป็นดั่ง “หัวจักร”ที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมบาติกในครัวเรือนไปข้างหน้างานชิ้นนี้พยายามจะทำความเข้าใจแนวคิดเหล่านี้ และบางทีเพื่อกระตุ้นให้เราทั่วไปตั้งคำถามถึงรูปแบบของความสัมพันธ์ทางเพศสภาวะในวิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่มีแนวโน้มจะวางผู้หญิงในบทบาทของผู้ตาม
เอลวิน ประดิปตา ศิลปินชายเดี่ยวคนสุดท้ายกับผลงาน Shadow Stamp /TjapBayang ผลงานจัดวางวิดีโอ 3 จอ ที่สนใจต่อการเปลี่ยนวัฒนธรรมเป็นสินค้า และประวัติศาสตร์ของเมืองบันดุง ซึ่งเป็นเมืองที่มีมรดกทางอาณานิคม ดังนั้นงานชิ้นนี้ได้กลับไปสำรวจตำแหน่งแห่งที่ของบาติกในบันดุงในฐานะที่เป็นโภคภัณฑ์และในฐานะที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของอัตลักษณ์พื้นถิ่นบาติกเป็นหนึ่งในตำนานทางวัฒนธรรมและเต็มไปด้วยคุณค่าเชิงปรัชญา แต่พัฒนาการภายหลังกลับทำให้คุณค่าทางประเพณีที่ดั้งเดิมเคยฝังลึกลงในบาติกกลับสูญเสียความสำคัญของมันไป ในงานชิ้นนี้จะได้ร่วมเฉลิมฉลองการนำเสนอลวดลายบาติกร่วมสมัย ซึ่งเป็นลวดลายที่ปราศจากปรัชญาความคิดตามประเพณี และไม่ได้ผูกมัดกับคุณค่าร่วมทางสังคมใดเลย
นิทรรศการโพลา – ลวดลายแห่งความหมาย เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของมูลนิธิเจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมป์สัน, บริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย และภายใต้ความร่วมมือจากพิพิธภัณฑ์ ดาร์นา ฮาร์ดี, สุราการ์ตา, สถาบันศิลปะและสังคมเซเมทิ (อินโดนีเซีย), โลตัส อาร์ต เดอ วีฟและดีซี คอลเลคชั่น
เรสตู รัตนังนิงเตียส
ตังเงรัง ประเทศอินโดนีเซีย, 1981
ศิลปิน
เรสตู รัตนังนิงเตียส เกิดในปีค.ศ. 1981 ที่เมืองตังเงรัง ประเทศอินโดนีเซีย ความหลงใหลในศิลปะของเธอบ่มเพาะมาตั้งแต่วัยเยาว์และได้เข้าศึกษาด้านศิลปะในปีค.ศ.2000 จนถึงค.ศ.2003 ณมหาวิทยาลัยจาการ์ตาสเตท ด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่กำลังเบ่งบานเรสตูได้แสดงความสามารถพิเศษผ่านผลงานที่หลากหลาย โดยแรกเริ่มเธอทำงานในด้านศิลปะวีดิทัศน์ (video art) ภาพสีน้ำจิตรกรรม และศิลปะติดตั้ง(installation) ที่เน้นเกี่ยวกับเรื่องราวใน
ชีวิตประจำวันการให้ความสำคัญต่อสิ่งเล็กๆน้อยๆของเธอนั้นเตือนผู้คนให้คำนึงถึงชีวิตของคนเราว่าต้องมีความพอดี
นอกจากการแสดงนิทรรศการเดี่ยว ‘Memento: Privatization Room’ ที่ Vivi Yip Art Room เมืองจาการ์ตาปีค.ศ.2008, นิทรรศการ ‘Tantrum’ ที่ the KedaiKebun Forum เมืองยอกยาการ์ตาปีค.ศ.2016 และนิทรรศการ ‘Subsume’ ที่Baik Art เมืองลอสแอนเจลิสปีค.ศ.2017 เรสตูยังได้เข้าร่วมการแสดงนิทรรศการกลุ่มนานาชาติได้แก่นิทรรศการ ‘mnēmonikos: Art of Memory’ ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทยในปีค.ศ.2013, นิทรรศการ ‘Dobrak’ ที่Cemeti Art House เมืองยอกยาการ์ตาปีค.ศ.2013, นิทรรศการ ‘the Yogyakarta Biennale’ ประเทศอินโดนีเซียปีค.ศ.2013, นิทรรศการ ‘The Roving Eye’ ณเมืองอิสตันบูลประเทศตุรกีรวมถึงนิทรรศการล่าสุดคือนิทรรศการ BAIK Art Residency ที่ the Van Every/Smith Gallery ณเมืองนอร์ทแคโรไลนาสหรัฐอเมริกา
เอลวิน ประดิปตา
กรุงจาการ์ตา, 1990
ศิลปิน
เอลวิน ประดิปตา เกิดเมื่อปีค.ศ.1990 ณ กรุงจาการ์ตาในปีค.ศ. 2013 เอลวินก็สำเร็จการศึกษาจากเอกศิลปะสื่อผสม (intermedia arts) คณะศิลปะและการออกแบบสถาบันเทคโนโลยีบันดุง ปัจจุบันทำงานและอาศัยอยู่ในเมืองบันดุงประเทศอินโดนีเซีย งานโดยส่วนใหญ่ของเขาคือการสำรวจตรวจสอบเครื่องฉายภาพและเครื่องฉายภาพดิจิตอลในฐานะที่เป็นสื่อกลาง สำหรับเขาแล้วสื่อใหม่มีความน่าสนใจในด้านความแตกต่างระหว่างศิลปะชั้นสูงกับศิลปะชั้นล่าง ผลงานของเขามักจะมุ่งเน้นในเรื่องประวัติศาสตร์และประชานิยม หรือศิลปะชั้นล่างในประเทศอินโดนีเซียเน้นเรื่องการถ่ายภาพที่มีวัตถุมากกว่าหนึ่งอย่างคู่กันเพื่อให้เห็นความเหมือนความคล้ายหรือแตกต่างและขัดแย้งกันในกระบวนการศิลปะชั้นสูง เขายังเสาะหาประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการแปรวัฒนธรรมเป็นสินค้าตลอดจนเรื่องของผลกระทบที่มีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เอลวินได้เข้าร่วมงานนิทรรศการผลงานเดี่ยวและผลงานกลุ่มเป็นจำนวนหลายครั้งทั้งในอินโดนีเซียและในต่างประเทศเช่นเทศกาล LOOP ที่ La Virreina Centre เมืองบาร์เซโลนาประเทศสเปน, นิทรรศการ Seite Festival 2014 ที่ Zeitraumexit เมืองมันไฮม์ประเทศเยอรมนี, นิทรรศการ Mapping the Unmapped ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ฟูกุโอกะเมืองฟูกุโอกะปะระเทศญี่ปุ่นปีค.ศ.2014 และเป็นศิลปินพำนักที่เซเมที อาร์ทเฮาส์ เมืองยอร์กยาการ์ตาในปี ค.ศ.2015
ทั้งนี้เขายังได้รับรางวัลศิลปินรุ่นใหม่ ‘the Young Artist Award of Art|Jog|14’ ที่เมืองยอกยาการ์ตาปรเทศอินโดนีเซีย
จะฮายา เนอกรี
ศิลปิน
จะฮายา เนอกรี เป็นกลุ่มศิลปินทีก่อตั้งขึ้นโดยโดนี่เมาลิสยา, นินธิโย อดิปูร์โนโม และลินดามายาซารี ในปีค.ศ.2015 พวกเขาได้ริเริ่มรวมกลุ่มทำงานศิลปะโดยมีเป้าหมายเดียวกันให้เป็นพลังที่สร้างความหวังและความปรารถนาให้เกิดขึ้นได้ท่ามกลางสภาพความเป็นจริงและพลวัตทางการเมืองที่ซับซ้อนในปัจจุบัน กลุ่มศิลปินกำลังค้นหาแนวทางสหวิทยาการรูปแบบใหม่และใช้วิธีการทางศิลปะที่หลากหลาย ในปีค.ศ.2015 กลุ่มศิลปินได้สร้างสรรค์ผลงาน ‘Religion Got Talent’ เข้าร่วมในSeni Indonesia Berkabung project ที่ศูนย์วัฒนธรรมKoesnadiHardjasoemantriมหาวิทยาลัยกาจาห์มาดาเมืองยอร์กยาการ์ตาประเทศอินโดนีเซียในปีค.ศ.2016 กลุ่มศิลปินได้ริเริ่มโครงการพหุวิทยาการ ‘PestaSenamKreatif’ ที่ได้รับความร่วมมือกับสตูดิโอ 8 แดนซ์ที่ศูนย์วัฒนธรรมKoesnadiHardjasoemantriมหาวิทยาลัยกาจาห์มาดาเมืองยอร์กยาการ์ตาประเทศอินโดนีเซีย
เอซ เฮาส์ คอลเล็กทีฟ
กลุ่มศิลปิน
เอซ เฮาส์ คอลเล็กทีฟ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ.2010 ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มศิลปินที่เคลื่อนไหวในเรื่องวัฒนธรรมวัยรุ่นและสมัยนิยม มีสมาชิกทั้งหมด 11 คน วิสัยทัศน์ทางศิลปะของกลุ่มAce House นี้มุ่งไปที่การระบุบทบาทและหน้าที่ของศิลปะร่วมสมัยในสังคมปัจจุบัน พวกเขาสร้างสรรค์โปรเจ็คที่ใช้แนวคิดของธรรมเนียมที่ไม่เป็นจริงเพื่อเป็นวิธีการในการนำเสนอรูปแบบศิลปะที่เกี่ยวข้องกับชุมชน พวกเขาได้รับรางวัลด้านนิทรรศการยอดเยี่ยมที่งาน Parallel Event Biennale Jogja Equator XI ปีค.ศ.2011 นอกจากนั้นยังได้เข้าร่วมการจัดแสดงนิทรรศการต่าง ๆ ดังนี้ นิทรรศการ Taiwan Annual 2016 จัดขึ้นโดยสมาคมทัศนศิลป์แห่งไต้หวัน, นิทรรศการ Taipei Expo Park ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ปีค.ศ.2016,นิทรรศการ KNPS (National Committee for Art Purification)ที่ Biennale Jogja Equator XIII ประเทศอินโดนีเซีย, นิทรรศการ Nigeria: Hacking Conflict ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจ็อกจา เมืองยอร์กยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ปีค.ศ.2015, นิทรรศการGrowing Manual ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะโซล กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ปีค.ศ.2014, นิทรรศการ Fast Forward’ที่Cemeti Art House เมืองยอร์กยาการ์ตา ปีค.ศ.2015 และอื่น ๆ
ศิลปิน: อาดิ“อุมะ กุมมะ” กุสุมา, เอฟ.อัลวาโทนี “อินดุน”, จินนูร์อเพรสเซีย สวัสติกะ, เฮนดรา “ฮีฮี” ฮาร์โซโน, อียก ปราโยโก, ปรีฮัทโมโก "โมกิ” กาตูร์, ริโอโน “ตาตัง” ตังกูลนูซานตารา, รูดีh “อัทเจห์” ธามมาวัน, ซูลังวิทยาประสัทยา, อูจิ “ฮาฮัน” ฮันโดโกะ เอโกะซาปูโตร, อลิซาเบธกามาราตรี (ผู้ประสานงานโครงการ) .
อาร์ฮัมระห์มัน
เมืองปินรัง, 1987
นักวิจัย
อาร์ฮัมระห์มัน (เกิดเมื่อปีค.ศ.1987เมืองปินรัง) เป็นภัณฑารักษ์ชาวอินโดนีเซียและนักวิจัยด้านทัศนศิลป์ อาศัยและทำงานอยู่ที่เมืองยอร์กยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เขาจบการศึกษาปริญญาโทสาขาศาสนาและวัฒนธรรมศึกษาจากมหาวิทยาลัย Sanata Dharma เมืองยอร์กยาการ์ตา เขาได้ทำงานในด้านศิลปะและวัฒนธรรมชุมชนหลายอย่างเช่น Erupsi (สถาบันจิตวิเคราะห์ ศิลปะและการเมือง), ColliqPujie Art Movement, Study on Art Practices (SOAP), ภัณฑารักษ์ศึกษาและกลุ่มศิลปะวิจารณ์SPASIนอกจากการทำวิจัยในเรื่องของศิลปะและวัฒนธรรม เขายังจัดและคัดสรรนิทรรศการในห้องแสดงภาพชั่วคราว(art space) ในเมืองยอร์กยาการ์ตาในปีค.ศ.2014-2016 เขาทำงานในฐานะบรรณาธิการบริหารของ”ดิ อีเควเตอร์” จดหมายข่าวของมูลนิธิยอร์กยาการ์ตาเบียนนาเล และในปีค.ศ.2015 เขาเป็นผู้อำนวยการที่มากาซาร์ เบียนนาเล ปัจจุบันนี้ราห์แมนเป็นหัวหน้าภัณฑารักษ์ของแกลเลอรีลอรองในยอร์กยาการ์ตา ให้ความสนใจในการบรรยายการสนทนาด้านงานหัตถกรรม
เมลล่า จาร์สมาร์
เนเธอร์แลนด์, 1960
ภัณฑารักษ์
เมลล่า จาร์สมาร์เกิดที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ในปีค.ศ.1960 ศึกษาเกี่ยวกับทัศนศิลป์ที่สถาบันมิเนอร์วา เมืองโกรนิงเงิน (ค.ศ.1978-1984) หลังจากนั้นออกจากประเทศเนเธอร์แลนด์มาศึกษาต่อที่สถาบันศิลปะแห่งจาการ์ตา (ค.ศ.1984)และที่สถาบันศิลปะแห่งอินโดนีเซียที่เมืองยอร์กยาการ์ตา (ค.ศ.1985-1986) เมลล่าได้อาศัยและทำงานในประเทศอินโดนีเซียตั้งแต่นั้นมา ในปีค.ศ.1988 เธอก่อตั้งเซเมทิอาร์ทเฮาส์ร่วมกับ นินธิโย อดิปูร์โนโมซึ่งในทุกวันนี้ยังคงใช้เป็นพื้นที่ที่สำคัญในการทำงานของเหล่าศิลปินและผู้ทำงานในวงการศิลปะในประเทศและส่วนภูมิภาค เมื่อไม่นานมานี้เซเมทิอาร์ทเฮาส์ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันศิลปะและสังคม เซเมทิ (Cemeti Institute for Art & Society) นอกจากนี้เธอยังเป็นคณะกรรมการบริหารของหอจดหมายเหตุทัศนศิลป์อินโดนีเซียและมูลนิธิจ็อกจา เบียนาเลเมลล่า จาร์สมาร์กลายมาเป็นที่รู้จักในด้านศิลปะการแต่งกายเชิงซับซ้อน ผลงานที่เป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของเธอแสดงให้เห็นถึงภาพการเปลี่ยนแปลงจากสภาพทางสังคม นำเสนอโดยใช้วัสดุที่เป็นพวกหนังสัตว์ ผ้า ตัดตกแต่งกับที่พักอาศัยหรือสถาปัตยกรรม ผลงานของเธอได้นำไปแสดงตามนิทรรศการต่าง ๆ อย่างแพร่หลายทั้งในอินโดนีเซีย และงานแสดงศิลปะนานาชาติ ได้แก่ นิทรรศการ Yokohama Triennale (ปีค.ศ.2005), นิทรรศการ Accidentally Fashion (ปีค.ศ.2007) ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย กรุงไทเป, นิทรรศการ RE-Addressing Identities (ปีค.ศ.2009) ที่พิพิธภัณฑ์คาโทนา นิวยอร์ก, นิทรรศการ GSK Contemporary – Aware: Art Fashion Identity (ปีค.ศ.2010) ที่ราชบัณฑิตยสถานศิลปะ กรุงลอนดอน, นิทรรศการ Singapore Biennale (ปีค.ศ.2011) ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์, นิทรรศการ Suspended Histories (ปีค.ศ.2013) ที่พิพิธภัณฑ์แวน ลูน กรุงอัมสเตอร์ดาม, นิทรรศการ Siasat Jakarta Biennale ที่พิพิธภัณฑ์เซรามิกและวิจิตรศิลป์, นิทรรศการ The Roving Eye (ปีค.ศ.2014) ที่อาเธอร์ เมืองอิสตันบูล รวมทั้งนิทรรศการ The Sydney Biennale 20th ในปีค.ศ.2016 และอื่นๆ