Exhibitions /
EN THSoil and Stones, Souls and Songs
หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน คาดิสต์ และพารา ไซต์ สนับสนุนโดย สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ยินดีนำเสนอ Soil and Stones, Souls and Songs นิทรรศการสัญจรสำคัญชุดใหม่ คัดสรรขึ้น ขึ้นบนพื้นฐานของสายสัมพันธ์ของความตึงเครียด และเรื่องเล่าที่พบเห็นได้จากความเป็นจริงในปัจจุบัน จากการผลิตเชิงศิลปะวัฒนธรรม และจากแนวคิดร่วมสมัยในเขตเอเชีย และพื้นที่อื่นๆ โดย คอสมิน คอสตินาส และอินทิ เกเรโร่
นิทรรศการกลุ่ม นำเสนอผลงานศิลปะโดย:
ตาเร็ค อาตุย / มาเรียน่า กาสติโย่ เดบาล / จิมมี่ เดอแรม / ซุไลมาน เอซา / เอ็ดการ์ เฟร์นันเดซ / เมชัค กาบา / ซิมริน กิล / อิยอน กริกอเรสคู / ตาลอย ฮาวินิ / โหว ซิว-กี / เจมส์ ที. หง / ฮ่องกง ฟาร์ม / ปีเตอร์ เคนเนดี้ & จอห์น ฮิวจ์ / เจน จินไคเซง / คยองแมน คิม / โซยัง คิม / จอง คิม / โอเชียน เหลียง / ลี่ ปินหยวน / หลี่ หราน / โฆเซ่ มาเซดา / ประภาการ์ พัชปุเต / ปรัชญา พิณทอง / เรดซา ปิยาดาสา / โร แจ อึน / รีตู สัตตาร์ / ชิตะมิจิ โมโตยูกิ / จุฬญาณนนท์ ศิริผล / วอลเตอร์ สเมทาค / สุทธิรัตน์ ศุภปริญญา / ชึง คอง ตุง / แฮก หยาง / เทรเวอร์ ยัง / โตกุลดูร์ ยอนโดนัมทส์
คัดสรรโดย คอสมิน คอสตินาส และ อินทิ เกเรโร่
ด้วยการวางโครงสร้างทางความคิดบนกระบวนการปฏิบัติทางศิลปะ การผลิตงานศิลปะขึ้นใหม่ และกรณีศึกษาต่างๆ ซึ่งคัดสรรโดย ยงวู ลี, ฉวู๋ ฉาง และ ไซม่อน ซูน และได้ทดลองกับรูปแบบ รวมถึงกระบวนการสร้างงานทั้งอย่างตรงไปตรงมา หรือโดยเชิงสัญลักษณ์ในประเด็นเนื้อหาต่างๆ อย่างกว้างขวาง เช่น การเปลี่ยนถ่ายเชิงการเมือง โครงสร้างทางสังคม ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และการคุกคามสภาพแวดล้อม เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้ สามารถสืบย้อนต้นตอกลับไปยังพลังที่สั่นสะเทือนโลกไปในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเอเชียอยู่ในแนวหน้าของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นิทรรศการสัญจร ณ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สันในครั้งนี้ ปรับแปลงจากเมื่อครั้งที่ นำเสนอณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย และงานออกแบบ มะนิลา และพาราไซต์ ฮ่องกง
พลังของตลาดโลกที่ระเบิดออกมาในภูมิภาคเอเชียได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของการผลิต แรงงาน ภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อม รวมถึงโครงสร้างทางสังคมอย่างกว้างขวางไปทั่วภูมิภาค ความวิตกกังวลของโลกใหม่ และความทะเยอทะยานในการแข่งขันกันในสังคมที่โดนแปลงโฉมใหม่นี้ กำลังใฝ่หาจินตนาการถึงรูปแบบใหม่ๆ ทางการเมือง ถึงความคิดใหม่ๆ ที่จะช่วยสร้างความหมายและแนวทางในการเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงในการใช้ชีวิตอยู่ในภูมิภาคนี้ ความคิดเหล่านี้ที่ส่วนใหญ่พยายามวางตัวเองลงในตำแหน่งขั้วตรงข้ามในประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม มักถูกมองว่าเป็นแนวคิดที่นอกคอก กระทั่งไม่อยู่ในมาตรวัดของความเป็นสมัยใหม่แบบตะวันตก บ่อยครั้งพัฒนาไปเป็นงานที่เกิดขึ้นบนฐานของอุดมการณ์ทางความคิดแบบผสมผสานและซับซ้อน อย่างไรก็ดี งานเหล่านี้ ซึ่งในหลายกรณีต่อยอดมาจากการต่อสู้ดิ้นรนกับการต่อต้านอาณานิคม และจากกระบวนการสร้างชาติในยุคหลังอาณานิคม เป็นการปรับแปลงครั้งล่าสุดต่อการฟื้นคืนชีพของภูมิภาค และต่อสิ่งที่อาจมองได้ว่ากำลังเป็นวิกฤตการณ์ในโลกตะวันตก
ในแง่นี้เอง กล่าวได้ว่ามีเส้นโยงใยแนวคิดที่ดูต่างกันสิ้นเชิง ระหว่างลัทธิขงจื๊อใหม่ที่กำลังถูกรื้อฟื้นโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน เข้ากับแนวคิดใหม่ถึงความหมายของการเป็นชนพื้นถิ่นในทั่วทุกภูมิภาคที่เคยตกเป็นเมืองอาณานิคม ตั้งแต่เมลานีเซียไปจนถึงอเมริกา ซึ่งก้าวผ่านสิ่งที่ดูเป็นมากกว่าเพียงแค่การฟื้นคืนของลัทธิชาตินิยมในหลายประเทศทั่วโลก ปรากฏการณ์หลังนี้เอง ที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการตกผลึกในการชำระประเด็นทางประวัติศาสตร์และตำนาน (ทั้งของชุมชนต่างๆ และของโลกเอง) เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ และเชิงนิเวศน์ ซึ่งได้นำไปสู่ความวิตกกังวลที่โลกกำลังเผชิญ อย่างไรก็ดี ความหวาดกลัวนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นในเอเชีย การแสวงหาพื้นที่อันสมบูรณ์ในโลกยิ่งชัดเจนขึ้นจากการสูญเสียความแน่นอน จากความวิตกกังวลในการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ในยุคหลังอาณานิคมและยุคหลังสงครามเย็น และจากความยากลำบากและความโหดร้ายที่บ่อยครั้งมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม
นิทรรศการศิลปะจะส่งผ่านความซับซ้อนนี้ออกไปได้อย่างไร รูปแบบ วัตถุ และสาระของงานศิลปะ จะแปลบริบทความวิตกกังวลที่เรากำลังชี้ให้เห็นนี้ได้อย่างไร ขอบเขตของความซับซ้อนอันไม่สิ้นสุดในภูมิภาคของเราจะถูกแปลออกมาอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงความความซับซ้อนในการนิยามวัตถุและภาพของจีนที่เป็นศูนย์กลางของประเด็นต่างๆ เหล่านี้ นิทรรศการนี้พยายามตอบคำถามต่างๆ ผ่านสายสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกัน และผ่านกรณีศึกษาแยกเดี่ยวต่างๆ ที่เมื่อรวมกันสร้างมุมมองที่หลากหลายต่อเรื่องของเรา นอกจากนี้ นิทรรศการยังให้ความสำคัญกับศัพท์เชิงสุนทรียศาสตร์และการสืบหาความเป็นสมัยใหม่แบบไม่ตะวันตก ว่าถูกสะท้อนออกมาอย่างไรในการอ้างอิงรูปแบบทางศิลปะที่ศิลปินในแต่ละรุ่นจากแต่ละพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เลือกใช้ในกระบวนการสร้างงาน ในขณะที่เรื่องราวจำนวนไม่น้อยสืบย้อนต้นกำเนิดได้ในภูมิภาคเอเชีย นิทรรศการนี้ยังพยายามทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ ด้วยการสืบค้นต้นตอกลับไปหาเสียงและเงาสะท้อนที่อยู่นอกเหนือฟากฝั่งทวีปออกไป ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล