Exhibitions /
EN THเวลาที่นับไม่ได้
เวลาที่นับไม่ได้ นิทรรศการกลุ่มโดยศิลปินไทย นนทวัฒน์ นําเบญจพล และ กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ, รุ่งเรือง สิทธิฤกษ์, และ วิริยะ โชติปัญญาวิสุทธิ์ สร้างสรรค์ผลงานวิดีโอ, ภาพถ่าย, และผลงานจัดวาง ที่อ้างอิงถึงแนวคิด “Duration” หรือ “เวลาที่ไม่สามารถนับได้”
นิทรรศการกลุ่ม โดย นนทวัฒน์ นําเบญจพล (ประเทศไทย) และ กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ (ประเทศไทย),
รุ่งเรือง สิทธิฤกษ์ (ประเทศไทย), และ วิริยะ โชติปัญญาวิสุทธิ์ (ประเทศไทย)
คัดสรร โดย อริญชย์ รุ่งแจ้ง (ประเทศไทย), Grace Samboh (ประเทศอินโดนีเซีย),
Kathleen Ditzig (ประเทศสิงคโปร์), และ Lyno Vuth (ประเทศกัมพูชา)
อำนวยการการคัดสรร โดย กฤติยา กาวีวงศ์ (ประเทศไทย) และ David Teh (ประเทศสิงคโปร์)
คิวเรต โดย อริญชย์ รุ่งแจ้ง (ประเทศไทย)
เวลาที่นับไม่ได้ นิทรรศการกลุ่มโดยศิลปินไทย นนทวัฒน์ นําเบญจพล และ กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ, รุ่งเรือง สิทธิฤกษ์, และ วิริยะ โชติปัญญาวิสุทธิ์ สร้างสรรค์ผลงานวิดีโอ, ภาพถ่าย, และผลงานจัดวาง ที่อ้างอิงถึงแนวคิด “Duration” หรือ “เวลาที่ไม่สามารถนับได้” ทำให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การจดบันทึก แต่ยังรวมถึงความทรงจำส่วนตัวที่ความเจ็บปวดได้ฝังไว้ในจิตสำนึกของผู้ถูกกระทำ เป็นความเข้มข้นของความรู้สึก, ความเจ็บปวด, และความทุกข์ ที่ผุดขึ้นฉับพลันจากความทรงจำ ณ ขณะใดก็ตามที่อดีตถูกกระตุ้น โดยไม่สอดคล้องกับการไหลไปของเวลาที่เกิดจากการเคลื่อนของวัตถุบนปริภูมิ เวลาแบบ Duration นี้ ไม่อยู่ในอดีต ปัจจุบัน หรือ อนาคต แต่อยู่ในจิตสำนึก เวลาที่นับไม่ได้ทำหน้าที่รักษาอดีต ใช้สร้างเรื่องราวที่ซับซ้อนขึ้นจากจิตสำนึกต่อเจตจำนงค์ของการตัดสินใจให้กับปัจจุบันและอนาคต และช่วยคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นให้แตกต่างออกไป
ผลงานทั้งสามชิ้นของศิลปินนำเสนอเวลาของจิตสำนึก และผลที่หลงเหลือจากช่วงสงครามเย็นซึ่งยังคงดำเนินต่อมาจนปัจจุบัน นนทวัฒน์ และ กฤตภัทธ์ เล่าเรื่องราวที่ถูกกดไว้ด้วยการกระทำของผู้มีอำนาจผ่านผลงานวิดีโอสามจอภาพ, วิริยะ แสดงภาพถ่ายอันคลุมเครือของสิ่งที่ปรากฏอยู่รายรอบเราในชีวิตประจำวัน ต่างจากการมีอยู่ของภาพถ่ายที่มักจะแสดงความจริงอย่างชัดเจน, ผลงานจัดวางของรุ่งเรือง สร้างงานจากความทรงจำของน้า ที่ทำงานขับรถส่งผลไม้จากเหนือมากรุงเทพฯ ชีวิตที่อยู่บนโครงสร้างและทิศทางอย่างถนน กลายมาเป็นความทรงจำหรืออดีตที่เป็นตัวกำหนดเจตจำนงของชีวิต
นิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Future Project ดำเนินการโดยหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ซึ่งริเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอกลุ่มผลงานศิลปะร่วมสมัยที่มีความหลากหลายภายใต้บริบทของสงครามเย็นในประเทศไทยหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอื่นๆ จากมุมมองของศิลปินชาวไทยและนานาชาติ ตลอดจนการนําเสนอประเด็นสําคัญเกี่ยวกับความเป็นจริงในระดับท้องถิ่นและระดับสากลโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและที่ต้องหยุดชะงักไป เนื่องด้วยความท้าทายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้
นิทรรศการ เวลาที่นับไม่ได้ เกิดขึ้นได้ด้วยการอำนวยการจัดแสดงโดย หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน, ร่วมด้วยการสนับสนุนจาก มูลนิธิ เจมส์ เอช. ดับเบิลยู. ทอมป์สัน และกราวด์คอนโทรล
นนทวัฒน์ นำเบญจพล
เกิดเมื่อ พ.ศ. 2526
ปัจจุบันอาศัยและทำงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร
ศิลปิน
นนทวัฒน์ทำงานในเชิงภาพยนตร์บันเทิงคดีและสารคดี ใน พ.ศ. 2556 เขาได้เปิดตัวสารคดีเรื่องแรก ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง เกี่ยวกับผู้คนในชายแดนไทย-เขมร ซึ่งได้ฉายรอบปฐมทัศน์ ณ Berlin International Film Festival ประเทศเยอรมันนี ในปีเดียวกันนั้น นนทวัฒน์ก็ได้สร้างสารคดีเรื่องใหม่ สายน้ำติดเชื้อ เกี่ยวกับชาวบ้านในคลิตี้ที่ได้รับผลกระทบโดยน้ำปนเปื้อนตะกั่ว สายน้ำติดเชื้อ เป็นสารคดีเรื่องแรกที่ได้รับรางวัล ‘Special Mention’ จาก Locarno Film Festival ใน พ.ศ. 2559 นนทวัฒน์ได้สร้างผลงานสารคดีกึ่งบันเทิงคดี #BKKY ซึ่งได้ฉายรอบปฐมทัศน์ที่ Busan International Film Festival และได้รับรางวัล Jury Award ในสาขาภาพยนตร์ขนาดยาวจาก Lesbisch Schwule Filmtage เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมันนี ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 นนทวัฒน์ได้ทำงานที่ชายแดนไทยและพม่าเพื่อสำรวจชีวิตของวัยรุ่นในค่ายทหารของรัฐฉาน และสร้างสรรค์ผลงาน SOIL WITHOUT LAND และ DOI BOY นนทวัฒน์ยังจักแสดงนิทรรศการเดี่ยว LONGEST WAY ROUND IS THE SHORTEST WAY HOME ณ Ver Galllery ใน พ.ศ. 2563
กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ
เกิดเมื่อ พ.ศ. 2537
ปัจจุบันอาศัยและทำงานอยู่ที่ขอนแก่น
ศิลปิน
กฤตภัทธ์เติบโตที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เคยทำงานในโรงพยาบาลเล็กๆ อีสานตอนใต้และศึกษาด้านเวชศาสตร์ครอบครัวที่จังหวัดขอนแก่นตั้งแต่ พ.ศ. 2564 โดยมีความสนใจด้านสิทธิมนุษยชน ศิลปะ และภาพยนตร์ เขียนบทความและวิจารณ์ภาพยนตร์/ศิลปะให้กับ The Isaan Record, The Isaander, art4d, Film Club, ประชาไท, และ WayMagazine กฤตภัทธ์ผ่านการฝึกในฐานะแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เขายังสนใจการปะทะกันระหว่างการแพทย์แผนปัจจุบัน วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม เขาสำรวจเรื่องราว ‘primitive’ ที่ถูกทอดทิ้งและความเชื่อมโยงของเรื่องราวเหล่านั้นผ่านสื่อต่างๆ เช่น ศิลปะและความเชื่อเรื่องภูติผีอันเกี่ยวพันกับการรักษา ในการมีส่วนร่วมในฐานะศิลปิน/ภัณฑารักษ์ของกฤตภัทธ์ เขาใช้กระบวนการด้านภัณฑารักษ์และวิจารณ์ภาพยนตร์ซึ่งก่อให้เกิดการผลิตผลงานวิธีการอันข้ามศาสตร์
รุ่งเรือง สิทธิฤกษ์
เกิดเมื่อ พ.ศ. 2531
ปัจจุบันอาศัยและทำงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร
ศิลปิน
การย้ายไปตามที่ต่างๆ ในวัยเด็กของรุ่งเรืองทำให้เขามีความสนใจการสร้างศิลปะเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและการย้ายถิ่นของผู้คน งานของเขามุ่งเน้นไปที่ทุนนิยมสมัยใหม่และโลกาภิวัตน์ รุ่งเรืองเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ ผ่านเรื่องราวของผู้พลัดถิ่นในพื้นที่ความเมือง และการสำรวจเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับคนชนชั้นแรงงาน ผลงานส่วนใหญ่ของเขามาจากบริบทของเพลง นิทาน หนัง และเรื่องราวของคนต่างจังหวัด ผสมผสานด้วยประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้รับมาจากการที่พ่อและแม่มาเป็นแรงงานในตัวเมือง (แรงงานไทย พ.ศ. 2540) ต่อมาได้เสียชีวิตลงด้วยความเจ็บป่วยจากการทำงาน รุ่งเรืองร่วมแสดงผลงานในเทศกาล Bangkok Art Biennale 2020 ใน พ.ศ. 2562 เขาได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ EARLY YEARS Project (EYP) ณ หอศิลปกรุงเทพฯ (BACC) นอกจากนี้ เขายังแสดงผลงานทั้งในและต่างประเทศ เช่น Seven master samurai ที่จัดแสดงที่ หอศิลป์ เชียงใหม่ อาร์ต เซ็นเตอร์, Somewhere Not Here at Tentacle, Tentacle N22, และ OITA Sculpture Festival ณ เมืองโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น
วิริยะ โชติปัญญาวิสุทธิ์
เกิดเมื่อ พ.ศ. 2525
ปัจจุบันทำงานและอาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานครและเมืองลียง
ศิลปิน
วิริยะมักจะเห็นองค์ประกอบพิเศษจากวัตถุในชีวิตประจำวันเสมอ ภาพถ่ายของเขาแสดงให้เราเห็นถึงสภาพแวดล้อมที่ไม่จีรัง เมื่อลักษณะของแสง เงา หรือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เราสัมผัสได้ เช่น อุณหภูมิ, ความชื้น, หรือสสารในอากาศชนกับเลนส์กล้อง, แสงแฟลช มันให้ภาพถ่ายเหล่านี้กับเรา พร้อมโอกาสที่เราจะเห็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า การรับรู้ของเราที่มีต่อภาพเหล่านั้นจึงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ภาพถ่ายของวิริยะสร้างความเป็นไปได้ในการอ่านวัตถุในรูปแบบใหม่ วิริยะเคยเข้าร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการกลุ่มระดับนานาชาตินับไม่ถ้วน เช่น Fond d’art contemporain de Paris และ Musée d'arts de d'archéologie d'Aurillac, ประเทศฝรั่งเศส (2565), Temporal Topography, ณ MAIIAM Contemporary Art Museum, ประเทศไทย (2561). Phnom Penh photo festival, ประเทศกัมพูชา (2561). PARALLEL, พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ค่ายรามสูร, ประเทศไทย (2561). เขายังจัดนิทรรศการเดี่ยวทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น Gallery N/A, ประเทศเกาหลีใต้ (2565), Galerie de Multiple, ประเทศฝรั่งเศส (2563, 2557 & 2555), Ver Gallery, ประเทศไทย (2563).
อริญชย์ รุ่งแจ้ง
เกิดเมื่อ พ.ศ. 2518
อาศัยและทำงานในกรุงเทพฯ
ภัณฑารักษ์
อริญชย์ มีชื่อเสียงจากการสร้างสรรค์งานศิลปะ ที่นำเนื้อหาและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เพื่อหวนกลับไปทบทวนเหตุการณ์ที่ถูกทับซ้อนกันด้วยเรื่องของเวลา สถานที่ และภาษา โดยมุ่งเน้นการนำเสนอประวัติศาสตร์ไทยผ่านมุมมองที่มักไม่ถูกพูดถึงในวงกว้าง และความเกี่ยวโยงของเรื่องราวกับโลกปัจจุบัน หัวใจในการสร้างสรรค์ผลงานของอริญชย์คือความสามารถในการเล่ารวมเหตุการณ์ที่อยู่ห่างไกลข้ามกาลเวลาและสถานที่เข้าด้วยกัน
เขายังเป็นตัวแทนประเทศไทยในงาน Venice Biennale ครั้งที่ 55 (2556) Bengawan Solo ที่เมือง Portikus และ Frankfurt ประเทศเยอรมนี (2561), Mongkut Satellite 8 Programme ที่ Maison d'Art Bernard Anthonioz ปารีสและพิพิธภัณฑ์ CAPC Musée d'art contemporain เมืองบอร์ โด ประเทศฝรั่งเศส (2558), และ APB Foundation Signature Art Prize ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ (2557), Golden Teardrop จัดแสดงในงาน Venice Biennale ครั้งที่ 55 (2556) เขายังเข้าร่วมจัดแสดงผลงานใน Biennale of Sydney ครั้งที่ 18 (2555), Bandung ‘City Pavilion’ at the Shanghai Biennale (2555), the Third Singapore Biennale at Old Kallang Airport (2554)