Exhibitions /
EN THA Hope and Peace to
End All Hope and Peace
นิทรรศการเดี่ยวโดย รัชดี อันวาร์
ภัณฑารักษ์โดย โซอี บัตต์
รัชดี อันวาร์ ใช้การเสียดสีเพื่อล้อเลียนความย้อนแย้งทางการเมืองผ่านผลงานศิลปะ เหตุผลที่ซ่อนอยู่ ก็เพราะรัชดีเป็นคนเคิร์ด ซึ่งหากถามว่าชนกลุ่มวัฒนธรรมใดที่ต้องเผชิญกับปัญหาและผลกระทบจากกลยุทธ์การเมืองต่างประเทศอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า คำตอบก็คือ ชนกลุ่มชาวเคิร์ด ชนชาติของชนกลุ่มน้อยและไร้รัฐที่เก่าแก่และมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกกลุ่มหนึ่ง ดินแดนและผู้คนของชนกลุ่มเคิร์ดถูกแบ่งแยกตามอำเภอใจอยู่หลายครั้ง ครั้งแรกโดยจักรวรรดิออตโตมัน ต่อมาโดยจักรวรรดิอังกฤษและฝรั่งเศส อีกทั้งยังมีการแทรกแซงทางทหารที่นำโดยสหรัฐอเมริกาและการแทรกซึมที่เกิดขึ้นล่าสุดโดยกลุ่ม ISIS
นิทรรศการ A Hope and Peace to End All Hope and Peace สำรวจสาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเส้นพรมแดนที่ถูกเขียนแบ่งตามใจชอบโดยเหล่ามหาอำนาจต่างชาติที่สู้รบกันเพื่อช่วงชิงอำนาจในการปกครองภูมิภาคที่เรียกขานกันมานมนานว่า 'ตะวันออกกลาง' ผ่านผลงานศิลปะที่ก่อร่างสร้างจากมุมมอง ประสบการณ์ และความทรงจำของรัชดี ผู้ชื่นชอบการสะสมรวบรวมและบันทึกข้อมูลและผลลัพธ์ที่เกิดจากกลอุบายทางการเมืองดังกล่าว ผลงานการจัดวางสื่อผสมของรัชดีจึงเป็นเหมือนบทเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากตำราเรียนที่รัฐหรือสถาบันการศึกษาโดยทั่วไปอนุมัติใช้สอน โดยเขาเลือกใช้สถานที่หรือเหตุการณ์หนึ่งเป็นพิเศษเพื่อทำหน้าที่เป็นเลนส์สำรวจล้วงลึกถึงความเป็นมาในทางภูมิรัฐศาสตร์ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคแห่งนี้อยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมถึงสถานการณ์ผู้ลี้ภัยพลัดถิ่นที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในปัจจุบันด้วย
นิทรรศการนี้เป็นนิทรรศการเดี่ยวที่นำเสนอเรื่องราวสำคัญทางประวัติศาสตร์สามเรื่องด้วยกัน เรื่องแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อตกลงไซเกส-ปิโกต์ พ.ศ. 2459 ซึ่งเป็นเอกสารที่ประเทศอาณานิคม ได้แก่ อังกฤษกับฝรั่งเศส จัดทำขึ้นมาเพื่อแบ่งภูมิภาค 'ตะวันออกกลาง' แห่งนี้ออกเป็นเขตพื้นที่ต่างๆ อย่างไร้ซึ่งตรรกะอันสมเหตุสมผล จนก่อเกิดเป็นความโกลาหลขัดแย้งเพื่อแย่งชิงทรัพยากรเชื้อเพลิงจนกระทั่งทุกวันนี้ เรื่องที่สองเกี่ยวกับบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในด้านการสนับสนุนวัฒนธรรมและการต่อสู้เพื่ออำนาจอธิปไตยของชาวเคิร์ด ไม่ว่าจะเป็น ชีค มาห์มุด บาร์ซานจิ (พ.ศ. 2421-2499) 'กษัตริย์' ที่ชาวเคิร์ดรักและเทิดทูน ผู้ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นขวากหนามสำคัญของจักรวรรดิอังกฤษที่ต้องการเข้ามาปกครองดินแดนของชาวเคิร์ด ไปจนถึง โหชยาร์ ไบยาเวลาย ชาวเคิร์ดที่มุ่งมั่นเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้สิ้นซากไปจากดินแดนของชนกลุ่มเคิร์ดปัจจุบัน และเรื่องที่สาม การเลียนแบบวิธีการสร้างความหวาดกลัวในยุคอาณานิคม อย่างการโฆษณาชวนเชื่อที่อังกฤษนำมาใช้ การกดขี่ในยุคซัดดัม ฮุสเซน ไปจนถึงการก่อการร้ายของกลุ่ม ISIS ที่ล้วนส่งผลทำให้ภูมิทัศน์แห่งนี้ ทั้งผู้คนและพื้นที่ ต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานขนานใหญ่ ทั้งจากการพลัดถิ่นฐานของผู้คนจำนวนมากและจากการถูกพังทลายจนย่อยยับของสภาพบ้านเมืองและโครงสร้างสำคัญ ซึ่งยังคงถูกบ่อนทำลายอยู่เรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน ทั้งโดยสงครามตัวแทนของชาติมหาอำนาจและแนวคิดสุดโต่งทางศาสนา
ทั้งงานประติมากรรม การจัดวาง เสียง และภาพเคลื่อนไหวที่นำเสนอในนิทรรศการนี้ต่างทำหน้าที่สำรวจเหตุการณ์ทางประวัติศาตร์ ผ่านสื่อวัสดุที่ศิลปินนำมาใช้สร้างสรรค์ผลงาน อย่างผืนพรมทอมือ ภาพถ่ายและเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ งานสำริด งานช่างไม้ในยุคอาณานิคม ภาพพิมพ์มือ อุปกรณ์ที่ใช้หล่อหลอมลูกระเบิด สารคดีภาพยนตร์ ข้อความโฆษณาชวนเชื่อที่เผยแพร่ทางวิทยุในอดีตและสื่ออื่นๆ อีกมากมาย
นิทรรศการ A Hope and Peace to End All Hope and Peace มุ่งนำเสนอสถานการณ์ความยากลำบากที่ 'ตะวันออกกลาง' ต้องประสบ ผ่านเรื่องราวของวีรบุรุษที่กลายเป็นผู้ร้ายและมิตรสหายที่กลายเป็นศัตรู และการสำรวจเพื่อให้เข้าใจถึงกลไกที่ประเทศอาณานิคมนำมาใช้ ที่ส่งผลทำให้เกิดสถานการณ์ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นคู่ขนานกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคที่ยังคงเผชิญกับผลกระทบและความปรารถนาที่จะแบ่งแยก พิชิต และแสวงหาผลประโยชน์ของจักรวรรดิอาณานิคม ผลงานศิลปะที่เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์พร้อมมอบมุมมองที่ไม่เหมือนใครเพื่อให้ผู้รับชมชาวไทยได้เข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์แห่งนี้ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นมากนัก
รัชดี อันวาร์
ศิลปิน
รัชดี อันวาร์ (www.rushdi.com.au) เกิดที่เมืองฮาลับจา ประเทศเคอร์ดิสถาน (เคอร์ดิสถาน-อิรัก) ผลงานของเขาสะท้อนประเด็นทางสังคมและการเมืองที่ยังคงส่งผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์เอเชียตะวันตก (ที่เรียกกันมานานว่า 'ตะวันออกกลาง') โดยใช้ประสบการณ์ส่วนตัวของการต้องเป็นผู้พลัดถิ่นฐาน การประสบกับสถานการณ์ความขัดแย้ง และการเผชิญกับความบอบช้ำทางจิตใจอันเป็นผลจากถูกปกครองโดยระบอบอาณานิคมและอุดมการณ์ของประเทศอิรัก ผลงานศิลปะของรัชดีจึงเป็นพื้นที่ที่นำเสนอและกระตุ้นให้มีการพูดคุยและถกถึงสถานะของความเสมอภาคทางสังคม โดยสำรวจถึงความซับซ้อนทางการเมือง สังคม และศาสนา ผ่านการศึกษาของรูปแบบและวัสดุที่นำมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งการจัดวาง ประติมากรรม จิตรกรรม ภาพถ่ายและวิดีโอ เพื่อย้ำเตือนผู้รับชมถึงสถานการณ์ความยากลำบากที่ผู้พลัดถิ่นหลายพันคนต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติและการถูกประหัตประหารในแต่ละวัน โดยตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ในการทำให้สถานการณ์ดังกล่าวดีขึ้นและความจำเป็นที่สังคมจะเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ความยากลำบากดังกล่าวด้วยความเห็นอกเห็นใจซึ่งถือเป็นหน้าที่พื้นฐานทางสังคมอย่างหนึ่ง
รัชดีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านศิลปะจากมหาวิทยาลัย Royal Melbourne Institute of Technology เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ปัจจุบันเป็นอาจารย์อาวุโส สาขาวิชาจิตรกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีผลงานได้รับการจัดแสดงทั้งนิทรรศการเดี่ยวและกลุ่มในประเทศออสเตรเลีย ออสเตรีย บัลแกเรีย แคนาดา จีน คิวบา ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เคอร์ดิสถาน นอร์เวย์ เกาหลีใต้ สวิตเซอร์แลนด์ ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม รัชดีได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในศิลปินอีกจำนวน 6 คน เพื่อเข้าชิงรางวัล Artes Mundi Biennial Prize ที่เมืองคาร์ดิฟฟ์ สหราชอาณาจักร พ.ศ. 2565 โดยนิทรรศการล่าสุดที่จัด ได้แก่ นิทรรศการ 'Sharjah Biennial 15: Thinking Historically in the Present' รัฐชัรญะฮ์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พ.ศ. 2566 นิทรรศการ 'Art in Conflict' นิทรรศการซึ่งจัดโดย Australian War Memorial และจัดแสดงตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศออสเตรเลีย พ.ศ. 2565 นิทรรศการ 'wHole' ของพิพิธภัณฑ์ Heide Museum of Modern Art เมลเบิร์น พ.ศ. 2565 นิทรรศการ 'Now' ของ Esta Gallery ที่ The Culture Factory เมืองสุไลมานิยาห์ เขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานแห่งอิรัก พ.ศ. 2565 นิทรรศการ ‘The Tides of the Century’ ของพิพิธภัณฑ์ Ocean Flower Island เมืองตันโจว ประเทศจีน พ.ศ. 2564 นิทรรศการ ‘Escape Routes: Bangkok Art Biennale’ กรุงเทพฯ พ.ศ.2563 ปัจจุบัน รัชดีอาศัยอยู่ทั้งที่เชียงใหม่และเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย
โซอี บัตต์
ภัณฑารักษ์
โซอี บัตต์ เป็นภัณฑารักษ์และนักเขียน ผู้คอยส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนศิลปะให้คิดวิพากษ์และเข้าใจในประวัติศาสตร์ รวมถึงการสื่อสารและปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ ด้วยประสบการณ์ที่มีมาอย่างยาวนานทั้งด้านการจัดงานนิทรรศการ การเผยแพร่ผลงานการเขียน และการเป็นวิทยากรร่วมพูดคุยบนเวทีระดับโลก โซอีตัดสินใจก่อตั้งสถาบัน ‘in-tangible institute’ ขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2565 เพื่อทำหน้าที่สร้างสรรค์ระบบนิเวศที่เข้มแข็งและเอื้อต่อการเสริมสร้างศักยภาพของภัณฑารักษ์ที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญในการจัดนิทรรศการหรืองานกิจกรรมทางวัฒนธรรมและศิลปะในลักษณะที่เหมาะสมต่อบริบททางวัฒนธรรม สังคม และศิลปะของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โซอีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากผลงานการเขียนที่ได้รับการเผยแพร่จาก Centre for Research and Education in Art and Media มหาวิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาอาวุโส (ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย) ของมูลนิธิ Kadist Art Foundation ก่อนหน้านี้เธอเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของ Factory Contemporary Arts Centre โฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม (พ.ศ. 2560-2564) กรรมการบริหารของ Sàn Art โฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม (พ.ศ. 2552-2559) ผู้อำนวยการโครงการนานาชาติ โครงการ Long March กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน (พ.ศ. 2550-2552) ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ ฝ่ายศิลปะเอเชียร่วมสมัย หอศิลป์ Queensland Art Gallery บริสเบน ประเทศออสเตรเลีย (พ.ศ. 2544-2550) นิทรรศการสำคัญที่โซอีได้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์ ได้แก่ นิทรรศการ ‘Pollination’ (พ.ศ. 2561) นิทรรศการ ‘Sharjah Biennial 14: Leaving the Echo Chamber - Journey Beyond the Arrow’(พ.ศ. 2562) นิทรรศการ ‘Conscious Realities’ (พ.ศ. 2556-2559) และนิทรรศการ 'San Art Laboratory' (พ.ศ. 2555-2558) โซอีได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการ MoMA International Curatorial Fellow นิวยอร์ค อีกทั้งยังเป็นสมาชิกโครง 'Asia 21' ของ Asia Society นิวยอร์ค และสมาชิกของ Asian Art Council ของพิพิธภัณฑ์ Solomon R. Guggenheim Museum นิวยอร์ค ปัจจุบันเธออาศัยและทำงานทั้งที่เชียงใหม่และโฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม
นิทรรศการนี้ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลียผ่านทางสภาศิลปะแห่งออสเตรเลียในด้านการสนับสนุนเงินทุนศิลปะและการให้คำปรึกษา อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากสถานีโทรทัศน์ Rudaw TV ประเทศเคอร์ดิสถาน/อิรัก และจากสถาบัน in-tangible institute จังหวัดเชียงใหม่