Exhibitions /
EN THPeople, Money, Ghosts (Movement as Metaphor)
People, Money, Ghosts (Movement as Metaphor) เป็นนิทรรศการมุ่งสำรวจว่าการเดินทางกับการอพยพของประชากรและอุตสาหกรรมทั้งหลาย แนวคิดทฤษฎีกับความเชื่อทางจิตวิญญาณ สุนทรียะกับวิทยาการ และตัวศิลปินเอง มีส่วนสร้างโลกของเราขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง – ทั้งภายในและนอกเหนือภูมิภาคที่เราเรียกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ – และภาวะดังกล่าวปรากฏชัดในการสร้างผลงานของศิลปินผู้แสดงงานครั้งนี้อย่างไร นิทรรศการนี้จึงเกี่ยวกับกระบวนการของการเคลื่อนย้ายด้วยตัวนิทรรศการเองเฉกเช่นบานพับที่พลิกแพลงได้หลายทิศทางโดยขึ้นกับตัวงานศิลปะแต่ละชิ้น มากกว่าตัวคำถามภายในชิ้นงานที่เปล่งเสียงได้ทั้งที่นี่และทุกหนแห่ง ผลงานจัดแสดงทั้งหมดของล้วนสร้างขึ้นในพื้นที่ห่างไกลความคุ้นชิน กล่าวคือไม่ใช่เมืองอันเป็น ‘บ้าน’ ของศิลปิน และต่างได้รับอิทธิพลจากความหมายจำเพาะของพื้นที่ทั้งในแง่มุมเชิงประวัติศาสตร์กับโลกร่วมสมัย ผลงานในนิทรรศการคำนึงถึงการเคลื่อนย้ายทั้งในฐานะประสบการณ์และวัตถุแห่งการสืบค้นวิจัยทางศิลปะ ศิลปินแต่ละคนเลือกคำถามและประเด็นซึ่งเชื่อมโยงกับการไร้ถิ่นฐานของผู้คน ความพลิกผันเปลี่ยนแปลงในเมืองหลวงของดินแดนอื่น และผลกระทบสืบเนื่องอันหลอกหลอนของสิ่งเหล่านั้น ในฐานะร่องรอยทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ร่วมสมัย พื้นที่ในความสนใจเหล่านี้จึงเป็นกระจกส่องสะท้อนทั้งประสบการณ์ส่วนตัวในการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของศิลปินและกระบวนการทำงานของพวกเขา
นิทรรศการกลุ่มแสดงผลงานศิลปะโดย
ไขว สัมนาง (พนมเปญ)
เอมี เลียน &เอ็นโซ คามาโช (มะนิลา, เบอร์ลิน และนิวยอร์ก)
เหงียน ธี ธันห์ ไม (เว้)
คัดสรรโดย
โรเจอร์ เนลสัน(พนมเปญ)
People, Money, Ghosts (Movement as Metaphor) เป็นนิทรรศการที่ตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ ในการจินตนาการถึงและหาเหตุผลให้กับโลกที่เลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ประหนึ่งกลุ่มดาวของชิ้นส่วนเคลื่อนไหวที่ปรับสร้างรูปแบบใหม่ไม่รู้จบ และกลุ่มพลังกับรูปแบบอันยุ่งเหยิงสับสนที่ลุกลามขยายตัวเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะทำความเข้าใจได้หมดจดจากเพียงมุมมองเดียว การเปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างแต่ละสถานที่และการเคลื่อนไหวผ่านพื้นที่ กลายเป็นใจความสำคัญในการสร้างงานศิลปะของศิลปินกลุ่มนี้ การย้ายที่อยู่เป็นกิจวัตรกลายเป็นสภาวะแวดล้อมที่จำเป็นสำหรับพวกเขา ศิลปินทั้งหมดได้เสนอให้มองภูมิภาคนี้ในฐานะเครือข่ายความสัมพันธ์อันเปี่ยมพลวัตที่การกำหนดค่าหรือรูปแบบนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และกระหายอย่างยิ่งที่จะโดดข้ามพรมแดนของรัฐชาติภายใต้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงพรมแดนในจินตกรรมของตัวภูมิภาคเองอีกต่อหนึ่ง
โปรเจ็คต์ทั้งสองของ ไขวสัมนาง (KhvaySamnang)มุ่งสำรวจการเคลื่อนย้ายในบริบทของประเทศกัมพูชาที่ขยายใหญ่ขึ้น– Yantra Man (2015) เป็นการสำรวจประวัติศาสตร์ที่ถูกหลงลืมในวงกว้างเกี่ยวกับทหารกัมพูชาผู้ถูกส่งไปร่วมรบให้กองทัพฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ตัวงานประกอบด้วยการจัดวางประติมากรรมเหล็ก โดยโมทีฟที่ปรากฏในชิ้นงานคือพระเครื่องที่เป็นเครื่องรางและผ้ายันต์แบบเขมร ตัวงานมุ่งพิเคราะห์การสะท้อนไปมาระหว่างประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ของเหล่าทหาร และประสบการณ์ร่วมสมัยของคนที่ต้องทำงานไกลบ้าน –Rubber Man (2014) ประกอบด้วยวิดีโอหนึ่งจอที่บันทึกการแสดงของตัวศิลปิน และจัดวางบนประติมากรรมไม้ที่นำเสนอบนดินร่วนแดง ชนิดเดียวกับที่พบได้ในจังหวัดรัตนคีรีทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชา งานชิ้นนี้สำรวจผลกระทบทั้งทางสิ่งแวดล้อม สังคม และจิตวิญญาณ ของการเพาะปลูกยางพาราในพื้นที่ดังกล่าว
ศิลปินคู่ เอมี เลียน &เอ็นโซ คามาโช (Amy Lien &Enzo Camacho) ร่วมกันเสนอผลงานชุดใหม่ด้วยรูปแบบที่เธอและเขาเรียกว่า ‘ประติมากรรมวิดีโอ’ (video sculpture)– งานศิลปะชุดนี้สำรวจรูปลักษณ์และตัวตนของสิ่งคล้ายผีที่มีผู้พบเจอตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งมีชีวิตในตำนานที่แยกร่างโดยทิ้งส่วนขาไว้ในป่า (ทั้งในความหมายตรงตัวและโดยเปรียบเทียบ) ในขณะที่ส่วนหัวกับเครื่องในบินผ่านเมืองสร้างความตื่นกลัวให้ชาวบ้าน ในไทยเรียกสิ่งมีชีวิตนี้ว่ากระสือ (krasue) ในขณะที่กัมพูชาใช้ชื่อ เอิบ (arb) จุดเริ่มต้นความสนใจของศิลปินที่มีต่อร่างกลายพันธุ์ชนิดนี้คือ มานานังกาล (manananggal) ของฟิลิปปินส์ และศิลปินเลือกนำเสนอกระสือ/เอิบ/มานานังกาลในรูปสัญลักษณ์อย่างบทกวีที่สะท้อนสัมผัสของตัวตนที่ผันแปรไม่หยุดนิ่ง เป็นสัมผัสของตัวตนที่ไร้ศูนย์กลางตายตัว ตัวตนที่เคลื่อนย้ายอพยพมากกว่าสงบนิ่งที่ ‘บ้าน’ หรือสถานที่จำเพาะ และแข็งขืนต่อการจำแนกประเภทด้วยตรรกะและเหตุผล ศิลปินเสนอว่าสิ่งมีชีวิตนี้ถือเป็น ‘สัตว์ประหลาดโอเพ่นซอร์ส’ (open-source monster) โดยหยิบยืมคำศัพท์ที่สื่อความถึงซอฟต์แวร์ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างผู้ผลิต และ/หรือพัฒนาต่อโดยผู้ใช้ มาช่วยอธิบายคุณลักษณะ–ชิ้นงานทั้งสามที่แยกส่วนชัดเจนทว่าสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน (และโต้ตอบระหว่างกันอย่างเงียบเชียบ) สร้างขึ้นใหม่เพื่อนิทรรศการครั้งนี้โดยเฉพาะ
Day by Day (2014-7) โดยเหงียน ธี ธันห์ ไม (Nguyen ThiThanh Mai) สำรวจประสบการณ์ผู้อพยพของชุมชนชาวเวียดนามไร้รัฐที่ใช้ชีวิตในหมู่บ้านลอยน้ำในประเทศกัมพูชาและเวียดนาม ชุมชนดังกล่าวต้องประสบความยากแค้นนานหลายทศวรรษ ทั้งถูกกวาดล้างระหว่างช่วงสงครามอเมริกันในเวียดนามและภายใต้การปกครองของเขมรแดงในกัมพูชา และถูกปฏิเสธสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องทั้งการศึกษาและสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน อันเป็นผลสืบเนื่องจากการไม่สามารถเข้าถึงเอกสารยืนยันตัวตนทางกฎหมายในแต่ละชาติ โปรเจ็คต์นี้ประกอบด้วยวิดีโอความยาวหนึ่งชั่วโมง จัดวางร่วมกับ ‘บัตรประชาชน’ ปลอม และชุดคอลลาจภาพถ่ายดิจิตอลติดตั้งในกระท่อมทางมะพร้าวหลังเล็กที่สร้างขึ้นในพื้นที่ของแกลเลอรี
ผลงานทุกชิ้นที่จัดแสดงคราวนี้ล้วนมีศักยภาพในการสะท้อนเข้าหาสภาพแวดล้อมร่วมสมัย และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่จมอยู่ใต้พื้นผิว ศิลปินในไทยจำนวนมากเองก็รับเอาวิถีปฏิบัติเยี่ยงผู้อพยพหรือชนเผ่าพเนจรไว้กับตัว ซึ่งโดยปริยายพวกเขาได้สำแดงปลดเปลื้องให้เห็นความรู้สึกของประสบการณ์ในระดับภูมิภาค (pan-regional) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ซุกซ่อนไว้ มากกว่าตัวตนที่มีเขตแดนจำกัดของชาติที่ตนเองสังกัดอยู่
โรเจอร์ เนลสัน
กรุงพนมเปญ
ภัณฑารักษ์
โรเจอร์ เนลสัน (Roger Nelson) ทำงานในฐานะนักประวัติศาสตร์ศิลป์และภัณฑารักษ์อิสระผู้พำนักในกรุงพนมเปญ สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกที่ University of Melbourneปี 2560ผลงานวิจัยของเขาศึกษาคำถามที่มีต่อความเป็นสมัยใหม่และสภาวะร่วมสมัยในงานศิลปะ โดยใช้ประเทศกัมพูชาและภูมิภาคโดยรอบเป็นกรณีศึกษา โรเจอร์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการร่วมของวารสารวิชาการเล่มใหม่ Southeast of Now: Directions in Contemporary and Modern Art in Asia ซึ่งตีพิมพ์โดย NUS Press ของ National University of Singapore เขาเขียนบทความวิชาการให้วารสารหลายเล่ม เช่น Stedelijk Studies นิตยสารศิลปะเนื้อหาเข้มข้น เช่น Art Asia Pacific รวมถึงหนังสือและสูจิบัตินิทรรศการศิลปะจำนวนมาก โรเจอร์ทำหน้าที่ภัณฑารักษ์นิทรรศการและโปรเจ็คต์อื่นๆ ทั้งในออสเตรเลีย กัมพูชา สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
เหงียน ธี ธันห์ ไม
เว้
ศิลปิน
เหงียน ธี ธันห์ ไม (เกิดปี 2526, พำนักในเว้) อธิบายไว้ว่า “แนวความคิดเกี่ยวกับการต่อสู้ดิ้นรน กับความสนใจต่อความรู้สึกที่แสดงออกได้ยากและถูกกดทับไว้ คือแกนกลางในการสร้างงานศิลปะของฉัน” เธอทำงานโดยใช้สื่อหลากหลาย สำรวจอุปสรรคที่ปัจเจกบุคคลหรือชุมชนต้องเผชิญ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมและลงพื้นที่วิจัยระยะยาว ในระยะแรกเริ่มเธอได้รับความสนใจจากผลงานที่เกี่ยวพันกับร่างกายของผู้หญิงและประสบการณ์ที่มีเรื่องเพศเป็นพื้นฐาน แต่ผลงานต่อเนื่องที่กำลังทำอยู่อันว่าด้วยชุมชนชาวประมงไร้รัฐในเวียดนามและกัมพูชา นำเสนอประเด็นซ้อนทับระหว่างเรื่องสิทธิความเป็นพลเมืองและประวัติศาสตร์ของสงครามอเมริกันในคาบสมุทรอินโดจีน
เอมี เลียน และ เอ็นโซ คามาโช
มะนิลาและนิวยอร์ก
ศิลปิน
เอมี เลียน (เกิดปี 2530, พำนักในมะนิลาและนิวยอร์ก) และ เอ็นโซ คามาโช (เกิดปี 2528, พำนักในมะนิลาและเบอร์ลิน) คือคู่ศิลปินที่ทำงานร่วมกันเป็นการเฉพาะตั้งแต่ปี 2552 – ผลงานศิลปะที่พวกเขาให้คำอธิบายด้วยน้ำเสียงจิกกัดว่า “ไม่ใคร่เจาะจงสื่อที่ใช้” มักใช้วิดีโอกับการจัดวางที่เลียนแบบสุนทรียะออนไลน์และสภาพแวดล้อมยามวิกาล ด้วยความสนใจของพวกเขาคือสภาวะกึ่งกลาง (liminal circumstance)เช่น ตัวตนที่ยึดโยงลักษณะระหว่างเพศ กิจกรรมที่คาบเกี่ยวระหว่างสันทนาการกับการใช้แรงงาน หรือผลงานที่อยู่ระหว่างความจริงจังกับความเสียดเย้ย
ไขว สัมนาง
พนมเปญ
ศิลปิน
ไขว สัมนาง (เกิดปี 2525, พำนักในพนมเปญ) คือหนึ่งในศิลปินสาขาทัศนศิลป์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศกัมพูชา เขาทำงานทั้งด้านเพอร์ฟอร์มานซ์, ภาพถ่าย, วิดีโอ, ศิลปะจัดวาง และยังสนอกสนใจสำรวจประเด็นชวนถกเถียงทั้งด้านการเมือง สังคม กับความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ในกัมพูชากับที่อื่นๆ “ถ้าพูดถึงไม่ได้ แล้วเราจะแสดงให้เห็นได้อย่างไร?”