Exhibitions /
EN THยูโทเปีย นาว
นิทรรศการ โดย ไค วัลโคเวียค (ประเทศออสเตรเลีย) ร่วมกับ ธีระวัฒน์ คาเงะ มุลวิไล (ประเทศไทย)
คิวเรต โดย สเตฟานี ดามีอานิตช์ (ประเทศไทย)
ผลงานของศิลปินชาวออสเตรีย ไค วัลโคเวียค ตั้งคำถามกับรากฐานของขนบธรรมเนียมตะวันตกและโลกเสรี-ทุนนิยม เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งในสังคมทั่วโลก อันเป็นผลมาจากปัญหาโลกร้อน โรคระบาด และเกมเชิงอำนาจในโลกทุนนิยม เราอาจมองได้ว่าผลงานชุดนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยมิติทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ก่อร่างนิทรรศการ Utopia Now ขึ้นมา
จากแนวคิดเรื่องยูโทเปีย หรือ นครแห่งอุดมคติ ผลงานในนิทรรศการนี้มีบทบาทเป็น “จอภาพ” ที่เชื้อเชิญให้ขบคิดถึงความเป็นไปได้อื่นที่เราจะมีปฏิสัมพันธ์กับโลกและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ศิลปินตั้งข้อเสนอให้เปลี่ยนย้ายความสนใจจากปัจเจกไปยังการอยู่ร่วมกันในรูปแบบใหม่ๆ, การช่วยเหลือเกื้อกูล, และประชาธิปไตย ผลงานหลักในนิทรรศการนี้คือภาพยนตร์ Neon Ghost ที่มาพร้อมกับปีศาจในร่างของ ธีระวัฒน์ คาเงะ มุลวิไล นักแสดงศิลปะการแสดงสดที่เข้าสำรวจสถานที่เก่าแก่ทิ้งร้าง อันเป็นสถาบันหลักของสังคมทุนนิยมในกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า สนามบิน หรือโรงภาพยนตร์ ปรากฏตัวดั่งเสียงสะท้อนของความตายและการปฏิเสธการล่มสลายของตัวมันเอง ความรู้สึก ระคายต่อสิ่งที่คุ้นชินซึ่งถูกนำเสนอผ่านภาพของอดีตอันเสื่อมโทรม ชวนให้เราคิดถึงอนาคตทางเลือกที่ควรค่าแก่การต่อสู้
แนวคิดเรื่องการฉาย “จอภาพ” นี้ เปิดพื้นที่จินตนาการสำหรับการคิดถึงอนาคตของโลกและเป็นเครื่องมือเชิงการเมืองที่เชื่อมงานทั้งหมดในนิทรรศการเข้าด้วยกัน เห็นได้ชัดจากงาน Fundamental Values ซึ่งรวมป้ายประท้วงที่แสดงภาพนามธรรมทรงเรขาคณิตต่างๆ ที่ความหมายจะเปลี่ยนไปตามมุมมองของผู้ชม หรือในผลงาน Encounters และ Drifters ที่ขยายประเด็นความยุติธรรมในอนาคตให้ครอบคลุมถึงชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งเป็นการเน้นย้ำว่า สังคมอุดมคติในปัจจุบันควรตระหนักถึงการเชื่อมต่อกับสิ่งอื่นและความเข้าใจเกี่ยวกับการโคจรไปพร้อมกันของธรรมชาติและวัฒนธรรม
นิทรรศการนี้สร้างขึ้นโดยความร่วมมือกับ Phileas
นิทรรศการ Utopia Now เกิดขึ้นได้ด้วยการอำนวยการจัดแสดงโดย หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน, ร่วมด้วยการสนับสนุนจาก มูลนิธิ เจมส์ เอช. ดับเบิลยู. ทอมป์สัน, ดร. ดิสพล จันสิริ, กราวด์คอนโทรล, และ สถานทูตออสเตรียแห่งประเทศไทย
สเตฟานี ดามีอานิตช์
เกิดเมื่อ พ.ศ. 2525, อาศัยและทำงานที่กรุงเวียนนา
ภัณฑารักษ์
ดามีอานิตช์เป็นภัณฑารักษ์และนักประวัติศาสตร์ศิลปะ เธอศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ, เทววิทยา, และเพศสภาพศึกษา จาก University of Vienna ประเทศออสเตรีย และ University of Leipzig ประเทศเยอรมนี เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 เธอดำรงตำแหน่งหัวหน้าของ Contemporary Exhibitions Office at the Academy of Fine Arts Vienna ซึ่งก่อนหน้านั้น เธอเคยทำงานเป็นผู้ประสานงานของ Curatorial Affairs and Curator for Contemporary Art at the Leopold Museum กรุงเวียนนา ระหว่าง พ.ศ. 2558 – 2561 และได้จัดนิทรรศการ เช่น Berlinde De Bruyckere – Suture, Poetics of the Material, and Traces of Time นอกจากนี้ ระหว่าง พ.ศ. 2554 – 2558 เธอเคยทำงานเป็นนักวิจัยผู้ช่วยวิจัยและภัณฑารักษ์ที่ Kunsthalle Krems ซึ่งได้ร่วมทำงานในนิทรรศการต่างๆ อย่าง Orbis Pictus โดย Gregor Schmoll หรือ Now โดย Jorinde Voigt รวมถึงทำงานร่วมกับ Hans-Peter Wipplinger ภัณฑารักษ์ในนิทรรศการผลงานย้อนหลังที่อุทิศให้กับ Pipilotti Rist
Kay Walkowiak
เกิดเมื่อ พ.ศ. 2523, อาศัยและทำงานที่กรุงเวียนนา
ศิลปิน
วัคโคเวียค เกิดเมื่อ พ.ศ. 2523 เมืองซาลซ์บวร์ก ปัจจุบันอาศัยและทำงานที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เขาศึกษาประติมากรรมและมัลติมีเดีย จาก University of Applied Arts Vienna, การถ่ายภาพและวิดีโออาร์ต จาก Academy of Fine Arts Vienna กรุงเวียนนา และ Expanded Expression จาก Zokei University โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น งานของวัคโคเวียคผสมผสานระหว่างศิลปะจัดวาง ประติมากรรม วิดีโออาร์ต และภาพถ่าย ทั้งยังรวมแนวคิดคอนเซปต์ชวลและโพสต์-มินิมอลไว้ด้วยกัน ผลงานส่วนใหญ่ของเขาสำรวจรูปแบบของการจัดการในเชิงประวัติศาสตร์และสังคมวัฒนธรรม และตั้งคำถามต่อหน้าที่ของมันในฐานะพื้นผิวของการฉายภาพโลกยูโทเปียที่ไร้กาลเวลา วัคโคเวียคเคยเข้าร่วมในนิทรรศการกลุ่มระดับนานาชาติ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2547 จนถึงเทศกาล ACF New York ใน พ.ศ. 2563 นิทรรศการเดี่ยวของเขายังได้รับการจัดแสดงที่ MAK – Austrian Museum of Applied Arts, Soulangh Art Space เมืองไถหนาน ประเทศไต้หวัน, Austrian Cultural Forum นิว เดลี, และ Node Gallery โตเกียว เขายังเข้าร่วมจัดแสดงผลงานใน Vienna Biennale และ Mediterranean Biennale ครั้งที่ 4 ใน พ.ศ. 2564
ธีระวัฒน์ คาเงะ มุลวิไล
เกิดเมื่อ พ.ศ. 2516, อาศัยและทำงานที่กรุงเทพมหานคร
ศิลปิน
ธีระวัฒน์เป็น Artistic Director ของ B-Floor Theatre เขามีความสามารถหลากหลายและมีหลายบทบาทรวมไปถึงการเป็นนักแสดง นักเต้น และผู้กำกับ เขานำวิจิตรศิลป์มารวมกับศิลปะการแสดงในงานของเขาเพื่อเป็นการวิจารณ์สังคม การเมือง ความอยุติธรรม ความรุนแรงและปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อชีวิตผู้คน เขาได้รับการยกย่องให้เป็นผู้กำกับที่พูดถึงประเด็นสังคมมากที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้ ในปี 2012 เขาได้รับรางวัลปีติศิลป์สันติธรรมจากผลงานดีเยี่ยมและการทำงานอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมสันติภาพ ประชาธิปไตย และความยุติธรรม เขายังเคยทำงานร่วมกับศิลปินท่านอื่น ๆ มากมาย ไม่นานมานี้ เขาร่วมกำกับผลงานร่วมระหว่าง B-floor Theatre และ Momggol theatre กลุ่มละครจาก Seoul ที่ทำร่วมกันมายาวนานถึง 3 ปี (2016-2018) โดยได้รับรางวัลจากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง (IACT Award) ปี 2019 ในสาขากำกับศิลป์ยอดเยี่ยม การแสดงที่ใช้การเคลื่อนไหวร่างกายยอดเยี่ยม และการแสดงโดยกลุ่มนักแสดงยอดเยี่ยม ในปี 2018 เขาได้รับรางวัลศิลปินศิลปาธรสาขาศิลปะการแสดง